ปตท.เซ็นความร่วมมือ 6 ค่ายรถ ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการให้บริการสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (PTT EV Station) ระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 6 ราย ได้แก่ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, ปอร์เช่ ประเทศไทย โดยบริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ
ความร่วมมือในการให้บริการ PTT EV Station ระหว่าง ปตท.และค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้ง 6 ราย
พล.อ.อนันตพร เปิดเผยว่า ความร่วมมือในการให้บริการ PTT EV Station ระหว่าง ปตท.และค่ายรถยนต์ชั้นนำทั้ง 6 รายในครั้งนี้นับเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1,200,000 คัน ภายในปี 2579 เพื่อขับเคลื่อนให้แผนอนุรักษ์พลังงานสามารถลดการใช้พลังงานร้อยละ 30 ให้ได้ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยภาครัฐได้ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย อาทิ สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอื่นๆ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับสิทธิการลดหย่อน หรือยกเว้นอากรขาเข้าในรุ่นรถยนต์ที่จะผลิต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำคัญซึ่งยังไม่สามารถมีการผลิตในประเทศ เป็นต้น
นายเทวินทร์กล่าวว่า ปตท. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีความยินดีและพร้อมที่จะสนองนโยบายของรัฐในเรื่องดังกล่าว โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมรองรับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มี PTT EV Station ที่มีเครื่องชาร์จไฟที่ได้มาตรฐานยุโรป (IEC) และมาตรฐานญี่ปุ่น (CHAdeMO) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ อาคาร ปตท. สำนักงานใหญ่, สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาแหลมฉบังขาออก จ.ชลบุรี และสถานีบริการน้ำมัน ปตท.สาขา The Crystal PTT ถ.ชัยพฤกษ์ โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่ม 2 สถานีภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 20 สถานี ภายในปี 2560
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาและทดลองระบบการใช้งาน PTT EV Station พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดย ปตท.จะเป็นผู้ก่อสร้างสถานีบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของ ปตท. และบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 6 ราย จะเป็นผู้ศึกษาและพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตามแผนธุรกิจของแต่ละบริษัทต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความมั่นใจสู่สาธารณะในการใช้ไฟฟ้าในรถยนต์ต่อไป