โตโยต้า..เมืองสีเขียว ต่อยอดสู่ความยั่งยืน กิจกรรม “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ปีที่ 11” มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำทั่วประเทศ
นายมานะ ชูขันทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมลงนามความร่วมมือการดำเนินงาน พร้อมตัวแทนโรงเรียนและชุมชนที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนกับโตโยต้า ภายใต้กิจกรรม “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ปีที่ 11” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ณ ห้องเทพราช บอลรูมบี โรงแรม ซันธารา เวลเนส รีสอร์ท จังหวัดฉะเชิงเทรา
จากการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศมากกว่า 50 ปี โตโยต้ามีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความสุขสู่สังคมไทย ภายใต้สโลแกน “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” ด้วยการเป็นองค์กรที่ดี มีจิตสำนึกรับผิดชอบและร่วมพัฒนาสังคมไทย โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นและตั้งใจของโตโยต้า คือ การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้โครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว หรือ Toyota Green Town” ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low carbon society) ก่อให้เกิดการบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนครอบคลุม ทั่วประเทศ
กิจกรรม ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการ โตโยต้าเมืองสีเขียว เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 มีวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยโรงเรียนและชุมชนจากทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นเครือข่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของโตโยต้า (Toyota Eco Network) โดยจะมีการถ่ายทอดความรู้ พร้อมสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมของแต่ละโรงเรียนและชุมชน สำหรับปีนี้มีเครือข่ายฯใหม่จำนวน 40 แห่งเข้าร่วมโครงการจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แบ่งเป็น
• โรงเรียน 20 แห่ง
• ชุมชน และเทศบาล 20 แห่ง
การถ่ายทอดความรู้เริ่มต้นจากการจัดสัมมนา เพื่อเข้าใจถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้แก่อาจารย์ และ ตัวแทนชุมชน พร้อมทั้งจัดค่ายเยาวชนให้แก่นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้คณะทำงานนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาแผนกิจกรรมลดเมืองร้อนในโรงเรียนหรือชุมชนของตนเอง โดยกิจกรรมในปีนี้ได้นำหัวข้อ “การใช้วิถีชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น” มาเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้ในกิจกรรมลดโลกร้อน โดยยังคงแนวทางในการทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมใน 4 ด้าน ดังนี้
• การประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ
• การลดขยะในเมือง
• การเดินทางอย่างยั่งยืน
• การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง
หลังจากโรงเรียนและชุมชนได้ทำกิจกรรมทั้ง 4 หัวข้อแล้วนั้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามผลการดำเนินกิจกรรม และคัดเลือกโรงเรียนและชุมชนที่มีผลการดำเนินกิจกรรมดีเด่น จำนวน 6 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน 3 แห่ง และชุมชน 3 แห่ง ในการเข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเดินทางไปศึกษา เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ณ สถาบันสิ่งแวดล้อม โตโยต้า ชิราคาวา-โก ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปพัฒนาการทำกิจกรรมของแต่ละแห่งต่อไป
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาในการดำเนินโครงการ “ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” โตโยต้าได้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานให้แก่โรงเรียน 248 แห่ง และ ชุมชน 194 แห่ง ทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 207 ล้านบาท เกิดเป็นโครงการที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนกว่า 2,387 โครงการ สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 14,000 ตัน และได้สนับสนุนโรงเรียนและชุมชนในเครือข่ายฯที่มีความพร้อม ในการจัดสร้างให้เป็นศูนย์ให้ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนในแต่ละชุมชน เพื่อถ่ายทอดความรู้ออกไปในวงกว้าง โดยปัจจุบันโครงการฯที่ได้จัดสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้โลกร้อน 3 แห่ง ได้แก่
1. “ชุมทางลดโลกร้อนทุ่งสง” อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. “อุโมงค์ลดโลกร้อน” ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
3. “สุขศาลายาเยียวยาโลกร้อน” อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
“โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข”