HONDA Accord History Generation 1-7
HONDA Accord รถรุ่นนี้ผมเชื่อว่าไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศไทย ต้องรู้จักอย่างแน่นอน เพราะมีตำนานที่ยาวนานกว่า 37 ปี ตั้งแต่เจนเนอร์เรชั่นแรกจนถึงปัจจุบัน ทาง บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จึงจัดทริปสืบสานตำนานของ Honda Accord ในกิจกรรม The Journey of Accord กัน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดโอกาสให้คณะสื่อมวลชล รวมถึง iAMCAR ได้สัมผัสตำนานบทนี้อย่างใกล้ชิดทุกรุ่น
HONDA Accord เป็นรถยนต์ซีดานขนาดกลาง ที่ผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดที่มุ่งคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานของผู้ขับขี่ทั้งในด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์ ประสิทธภาพการขับเคลื่อน การประหยัดน้ำมัน และความปลอดภัยในการขับขี่ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาง HONDA วางเป้าหมายการพัฒนาเพื่อจะจัดจำหน่ายออกไปทั่วโลก โดยอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ HONDA Accord มีการส่งออกไปเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันโรงงานผลิตรถ HONDA Accord ตั้งอยู่ทั่วโลกเพื่อรองรับปริมาณการสั่งซื้อ โดยแยกสายการผลิตกระจายไปทั่วโลก เช่นเมืองแมรีส์วิลล์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา สำหรับทวีปอเมริกาเหนือ, Guadalajara, ฮาลิสโค, ประเทศเม็กซิโก สำหรับทวีปอเมริกาใต้, เมืองซายามะ, ไซตามะ, ประเทศญี่ปุ่น สำหรับทวีปอเมริกาเหนือ, กว่างโจว ประเทศจีน สำหรับประเทศจีนและฮ่องกง , พระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนชื่อรุ่น “Accord” นั้นแปลว่า “การอยู่ร่วมกัน ความสามัคคี” ดัวยเหตุผลของฮอนด้าที่ต้องการให้ “มนุษย์ สังคม รถยนต์ ได้อยู่ร่วมกัน” ทำให้ตำนานบทนี้ยาวนานนัก ผมของเล่าให้ฟังทีละเจนเนอร์เรชั่นนะครับ
Generation ที่ 1 ค.ศ. 1976 – 1981
ในรุ่นแรกเริ่มต้นการผลิต ปีค.ศ. 1976 – 1981 ที่ Sayama ประเทศญี่ปุ่น โดยเปิดตัวครั้งแรกวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1976 บอดี้แรกที่ออกสู่ท้องตลาดมีรุ่นเดียว คือ Hatchback 3 ประตู (Accord CVCC EX) มีฐานล้อขนาด 2,380 มม. ขนาดตัวถังกว้าง 1,620 มม. ยาว 4,125 มม. สูง 1,340 มม. น้ำหนัก 900 กว่ากิโลกรัม ซึ่งเป็นการขยายมาจากแพลตฟอร์มของ HONDA Civic พร้อมเครื่อง CVCC B-SJ/EF และเป็นเครื่องยนต์ที่ผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดในการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เพิ่มฟังก์ชั่นที่ไม่มีตัวเร่งปฏิกิริยาใด ๆที่ก่อให้เกิดมลพิษ พร้อมอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ดีในยุคนั้น มีแรงบิดสูงในรอบความเร็วต่ำถึงปานกลาง ทำให้เป็นเครื่องยนต์ที่ยอดเยี่ยมในยุค 70 ในปีแรกที่ Accord ออกจำหน่ายมีแต่เครื่องยนต์ 4 สูบ OHC 1.6 ลิตร 80 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหน้า
อีก 1 ปีต่อมาจึงมีบอดี้ 4 ประตู (Accord Sedan EX) ออกมาจำหน่าย โดยเปิดตัววันที่ 14 ตุลาคม 1977 มีขนาดตัวถังกว้าง 1,620 มม. ยาว 4,345 มม. สูง 1,360 มม. น้ำหนัก 945 กก. พร้อมขยับความแรง ความจุกระบอกสูบ 1.6 ลิตร 4 สูบ OHC 8 วาล์ว ให้มีแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 82 แรงม้า ด้วยระบบการสั่งจ่ายน้ำมันแบบคาบูเรเตอร์
และในปีค.ศ. 1978 เพิ่มเครื่องยนต์อีก 1 บล็อคในรหัส ESZ ความจุกระบอกสูบ 1.8 ลิตร 4 สูบ OHC 12 วาล์ว ให้มีแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 75 แรงม้า ส่วนระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด, เกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด มีให้เลือกทั้งหมด 6 รุ่น โดยมีจุดเด่นที่ระบบ Power Steering รวมถึงความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์ CVCC-II โดยใช้การเผาไหม้จากการจุดระเบิดส่วนกลาง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและประหยัดน้ำมันมากขึ้น พร้อมมีการพัฒนาเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ให้เป็น CVCC-II ตามไปด้วย ในประเทศไทย แอคคอร์ดรุ่นนี้มีการนำเข้ามาขายไม่กี่คันเท่านั้นจากการนำเข้าของ เอเชียน ฮอนด้าในสมัยนั้น
Generation ที่ 2 ค.ศ. 1982 – 1985
ในรุ่นที่สองเปิดตัววันที่ 22 กันยายน 1981 ทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา ผลิตปีค.ศ. 1982 – 1985 ที่ Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, Marysville Ohio อเมริกา และ Nelson นิวซีแลนด์ มีให้เลือก 2 บอดี้ คือ hatchback 3 ประตู กับ sedan 4 ประตู มีเครื่องยนต์ให้เลือก 1.6 และ 1.8 ลิตร ระบบส่งกำลังมีเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และพัฒนาเกียร์อัตโนมัติใหม่เป็นแบบ 4 สปีด ความโดดเด่นในเจนเนอร์เรชั่นนี้เป็น รุ่นที่ผลิตในอเมริกาเป็นครั้งแรก แล้วยังเป็นรถต่างชาติที่ขายดีที่สุดในอเมริกา พัฒนาระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแบบ 1 หัวต่อสูบ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “PGM-FI” ซึ่งในเครื่องยนต์ 1.8 ลิตรระบบการจ่ายน้ำมันแบบคาร์บูเรเตอร์ มีแรงม้าที่ 86 แรงม้า อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 13.6 กม./ลิตร (ความเร็วคงที่ 60 กม./ชม.) เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบสั่งจ่ายน้ำมันแบบ “PGM-FI” ทำให้มีแรงม้าเพิ่มเป็น 101 แรงม้า อัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 22 กม./ลิตร (ความเร็วคงที่ 60 กม./ชม.) นอกนี้ยังมีระะบบ Cruise Control กระจกหน้าต่างและกระจกมองข้างไฟฟ้า ระบบกันสะเทือนควบคุมระดับ Auto Level Suspension หลังคาซันรูฟ และ ระบบป้องกันล้อล็อค ALB 4-wheel anti-lock brakes ระบบเบรก หน้าดิสก์-หลังดรัมทุกรุ่น ยกเว้นรุ่นท๊อปที่จะเป็นดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ เจนเนอร์เรชั่นนี้เริ่มเข้ามาทำตลาดจริงจังในประเทศไทยปี พ.ศ. 2527 – พ.ศ. 2529 ด้วยเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร SOHC คาร์บูเรเตอร์เดี่ยว มีแรงม้า 100 แรงม้า ทั้งเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ Accoord ในเจนเนอร์เรชั่นนี้มียอดการผลิตสะสมมากถึง 2 ล้านคัน
Generation ที่ 3 ค.ศ. 1986 – 1989
ในรุ่นที่ 3 นี้เปิดตัวที่ญี่ปุ่นเป็นที่แรกของโลก ในวันที่ 4 มิถุนายน 1985 และอีกหนึ่งปีต่อมาก็มีการเปิดตัวที่อเมริกาเหนือและยุโรป ผลิตปี ค.ศ. 1986 – 1989 ที่ Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, Marysville Ohio อเมริกา, Nelson นิวซีแลนด์ และ Alliston Ontario แคนาดา นิวซีแลนด์ มีให้เลือก 3 บอดี้ คือ hatchback 3 ประตู (ใช้ชื่อว่า “Accord AeroDeck”) , sedan 4 ประตู และ 2 ประตู Coupe ที่ได้ความความนิยมท่วมท้นในตลาดญี่ปุ่น ความโดดเด่นในเจนเนอร์เรชั่นนี้ เริ่มต้นจากการออกแบบที่ผสมผสานความสปอร์ตของรุ่น Prelude ลงไปในการออกแบบ ที่ญี่ปุ่น และอเมริกาจะใช้ไฟหน้าแบบ Pop Up ส่วนในยุโรป เอเชีย และเมืองไทยนั้น ไฟหน้าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมเฉียง ระบบกันสะเทือนแบบดับเบิลวิชโบนอิสระทั้ง 4 ล้อ ที่ถูกนำมาใช้กับรถยนต์แบบขับเคลื่อนล้อหน้าเป็นคร้งแรกของโลก พร้อมได้รับรางวัล “รถญี่ปุ่นยอดเยี่ยมแห่งปี 1985-1986”
เครื่องยนต์ที่ใช้ใน Accord เจนเนอร์เรชั่นนี้ มีให้เลือกทั้ง รหัส B20A แบบ 4 สูบ DOHC ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI มีแรงม้า 160 แรงม้า, รหัส B18A แบบ 4 สูบ DOHC ความจุกระบอกสูบ 1.8 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์คู่ มีแรงม้า 130 แรงม้า, , รหัส A18A แบบ 4 สูบ OHC ความจุกระบอกสูบ 1.8 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์เดียว มีแรงม้า 110 แรงม้า ในตลาดยุโรปมีเครื่องยนต์รหัส A20A4 แบบ 4 สูบ DOHC ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI มีแรงม้า 120 แรงม้า, เครื่องยนต์รหัส A20A2 แบบ 4 สูบ SOHC 12 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์ มีแรงม้า 105 แรงม้า ในบ้านเรานิยมเรียกว่า “โฉมท้าย 2 ชั้น” ในเมืองไทยเปิดตัวในปี 2529 และขายอยู่จนถึงปี 2534 รวมเป็นเวลา 5 ปี ใน 3 เจนเนอร์เรชั่นที่ผ่านมามียอดการผลิตสะสมมากถึง 5 ล้านคัน
Generation ที่ 4 ค.ศ. 1990 – 1993
ในรุ่นที่ 4 มีการเปิดตัวตั้งแต่ปีค.ศ. 1989 ผลิตปี ค.ศ. 1990 – 1993 ที่ Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, Marysville Ohio อเมริกา, Nelson นิวซีแลนด์ และ East Liberty มีให้เลือก 3 บอดี้ คือ 5 ประตู Station Wagon, sedan 4 ประตู และ 2 ประตู Coupe ความโดดเด่นในเจนเนอร์เรชั่นนี้ คือ ทาง Honda แนะนำให้รู้จักกับตัวถัง “CB” ซื้งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ผ่านมาตราฐานความปลอดภัย NHTSA ระบบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อ (4WS) ที่สามารถช่วยให้วงเลี้ยวแคบลง และปรับมุมการเลี้ยวให้สัมพันธ์กับล้อ นอกจากนี้ยังเริ่มที่จะใส่สิ่งอำนวยความสะดวกตั้งเบาะหลังที่สามารถปรับได้ ติดตั้ง CD แบบ 6 แผ่น ที่วางแขนตรงกลางระหว่างเบาะคู่หน้า Air Bag SRS เซ็นทรัลล็อค ล็อคกระจก สปอยเลอร์ท้าย ล้อแม็กอัลลอยและไฟตัดหมอก
ส่วนเครื่องยนต์นำอลูมิเนียมเข้ามาเป็นวัสุดหลัก เพื่อลดเสียงเครื่องยนต์ และแรงเสียดทานลง ที่สำคัญยังนำเครื่องยนต์บล็อคใหม่รหัส F22A แบบ 4 สูบ SOHC ความจุกระบอกสูบ 2.2 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI มีแรงม้า 140 แรงม้า แล้วยังมีบล็อค F20A แบบ 4 สูบ DOHC ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI มีแรงม้า 150 แรงม้า, F20A แบบ 4 สูบ SOHC ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์ มีแรงม้า 110 แรงม้า มีระบบส่งกำลัง 2 ระบบ คือ อัตโนมัติ 4 สปีด และธรรมดา 5 สปีด ส่วนใหญ่คนไทยจะเรียกรุ่นนี้ว่า “โฉมตาเพชร” โดยเรียกจากลักษณะไฟหน้าที่แวววาวดูคล้ายเพชร ซึ่งเป็นโฉมสุดท้ายที่จัดเป็นรถขนาดเล็ก(Compact Car) ในเมืองไทยเปิดตัวในปี 2534 ก่อนที่จะเลิกผลิตในปี 2537 โฉมนี้ยังสามารถพบเห็นได้ตามท้องถนนในเมืองไทยมากมาย เพราะถือว่าเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย
Generation ที่ 5 ค.ศ. 1994 – 1997
ในรุ่นที่ 5 มีการเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1993 ที่อเมริกา ผลิตปี ค.ศ. 1993 – 1997 ที่ Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, Marysville Ohio อเมริกา, Nelson นิวซีแลนด์, Santa Rosa City Laguna ฟิลิบปิน และ East Jalisco เม็กซิโก ซึ่งก่อนเจนเนอร์เรชั่นที่ 5 จะออกจำหน่าย Accord มียอดผลิตสะสมเกินกว่า 7.2 ล้านคัน และ Accord เป็นรถรุ่นที่ขายดีที่สุดในอเมริกาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน นับจากปี 1989 มีให้เลือก 3 บอดี้ คือ 5 ประตู Station Wagon, sedan 4 ประตู และ 2 ประตู Coupe ความโดดเด่นของรุ่นนี้ คือ การขยับขึ้นมาเป็น Mid-size อย่างเต็มตัวพร้อมตัวถังแบบ โมโนค็อก (Monocoque) และพัฒนาสองรุ่นที่แตกต่างกันเพื่อจำหน่ายในยุโรปหนึ่งแบบ และจำหน่ายในอเมริกาเหนือกับญี่ปุ่นอีกหนึ่งแบบ แต่ทั้งคู่ยังนำแนวคิดพื้นฐาน “Comfort and Harmony” มาพัฒนาให้ล้ำสมัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และให้ความปลอดภัยเทียบเท่ากับรถซีดานระดับสูง โฉมนี้ 2 รุ่นปี 2537 สัญลักษณ์ตรา H ของฮอนด้า จะอยู่ที่กระโปรงหน้า เรียกว่า “โฉมไฟท้ายก้อนเดียว” เพราะมีไฟท้ายลักษณะคล้ายก้อนกล้ามเนื้อ และอยู่ บริเวณ ข้างๆ กระโปรงหลังด้านล่างของรถข้างละก้อน จึงเรียกไฟท้ายก้อนเดียว แต่ ในปี 2539 ให้หลัง สัญลักษณ์ H เลื่อนลงมาจากกระโปรงหน้า มาอยู่ที่กระจังหน้า และมีการเพิ่ม “ก้อน” ไฟท้ายขึ้นที่บริเวณกระโปรงหลังด้านล่าง ทำให้แต่ละข้างมีไฟท้าย 2 ก้อน จึงนิยมเรียกว่า “โฉมไฟท้าย 2 ก้อน”
ส่วนเครื่องยนต์ฮอนด้าส่งระบบ “VTEC” Variable Valve Timing & Lift Electronic Control System ที่มีกลไกระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการเปิด- ปิด และระยะยกตัวของวาล์ว ซึ่งเครื่องยนต์ F22B เป็นตัวประเดิมระบบ VTEC ครั้งแรกในบอดี้ Accord โดยใช้ระบบ SOHC VTEC ซึ่งเป็นเครื่องยนต์แบบ 4 วาล์วต่อสูบ แบ่งเป็นไอดี 2 ไอเสีย 2 มีเพลาราวลิ้น (Camshaft) แท่งเดียวกัน ดังนั้นจะมีลูกเบี้ยวอยู่ในตัว 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นองศาและลิฟท์ สำหรับการทำงานของเครื่องยนต์ในช่วงรอบการทำงานต่ำ ๆ ส่วนอีกชุดหนึ่งเป็นองศาและลิฟท์สำหรับในช่วงรอบเครื่องยนต์สูง การทำงานจะใช้กระเดื่องกดวาล์วเป็นตัวควบคุมการทำงานของวาล์ว การเปลี่ยนการทำงานของลูกเบี้ยวหนึ่งไปอีกลูกเบี้ยวหนึ่ง จะขึ้นอยู่กับความเร็ว แต่เมื่อความเร็วลดลง ชุดกระเดื่องก็จะถูกสั่งงานให้กลับมาใช้ ลูกเบี้ยวเดิมที่เคยใช้ในรอบต่ำเพื่อเน้นความประหยัด ส่วนการทำงานของลูกเบี้ยวที่เปลี่ยนไปมา เพื่อให้เหมาะสมกับความเร็วรอบนั้นๆ โดยอาศัยแรงดันจากน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ไปติดต่อการทำงานของกระเดื่อง ตามคำสั่งจากกล่อง ECU จากข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่องได้รับ ในประเทศญี่ปุ่นมีให้เลือก 3 บล็อคเครื่องยนต์รหัส F18B แบบ 4 สูบ ความจุกระบอกสูบ 1.8 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์ มีแรงม้า 138 แรงม้า, บล็อคเครื่องยนต์รหัส F20B แบบ 4 สูบ ความจุกระบอกสูบ 2.0 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ คาร์บูเรเตอร์ มีแรงม้า 135 แรงม้า, บล็อคเครื่องยนต์รหัส F22A แบบ 4 สูบ ความจุกระบอกสูบ 2.2 ลิตร มีแรงม้า 150 แรงม้า, บล็อคเครื่องยนต์รหัส F22A แบบ 4 สูบ SOHC VTEC ความจุกระบอกสูบ 2.2 ลิตร ระบบการจ่ายน้ำมันแบบ PGM-FI มีแรงม้า 145 แรงม้า ระบบส่งกำลังมีการปรับปรุงให้มีความชาญฉลาดมากขึ้นในเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเพิ่มเทคโนโลยี ABS / TCS / LSD
Generation ที่ 6 ค.ศ. 1998 – 2002
ในรุ่นที่ 6 มีการเปิดตัวตั้งแต่ วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1997 ที่ญี่ปุ่น ผลิตปี ค.ศ. 1998 – 2002 ที่ Marysville Ohio อเมริกา, Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, กว่างโจว ประเทศจีน, Santa Rosa City Laguna ฟิลิบปิน, AlorGajah มาเลเซีย อยุธยา ประเทศไทย และ East Jalisco เม็กซิโกมีบอดี้ 4 แบบ คือ sedan 4 ประตู , coupe 2 ประตู , hatchback 5 ประตู และ wagon 5 ประตู ในเจนเนอร์เรชั่นนี้ออกมาสามรูปแบบที่แยกขายสำหรับญี่ปุ่น, อเมริกาเหนือและตลาดยุโรป ความโดดเด่นของเจนเนอร์เรชั่นนี้ เริ่มจากตัวถังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่มี Accord ขึ้นมาบนโลก ส่วนในตัว Coupe มีการดีไซน์เน้นความสปอร์ตอย่างสูงสุด ระบบช่วงล่างมีการปรับมาใช้แบบ 5 Link Double Wishbone
เครื่องยนต์ใหม่มีให้เลือกเยอะขึ้นทั้ง รหัส F23A แบบ 4 สูบ VTEC 16 วาล์ว ความจุกระบอกสูบ 2,258 ซีซี มี 160 แรงม้า และ เครื่องยนต์รหัส J30A แบบ V6 SOHC VTEC ความจุกระบอกสูบ 2,997 ซีซี. มี 200 แรงม้า ทุกรุ่นเป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ขับเคลื่อนล้อหน้าเครื่องยนต์รหัส F18B 4 สูบ VTEC SOHC 1,849 ซีซี 140 แรงม้า, F20B 4 สูบ VTEC SOHC 1,997 ซีซี148 แรงม้า มีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อให้เลือก และรหัส F20B (ในรุ่น SiR) 4 สูบ VTEC DOHC 16 วาล์ว 1,997 ซีซี 180 แรงม้า พร้อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแบบ S-Matic สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้แบบเกียร์ธรรมดา และในเจนเนอร์เรชั่นนี้จะมีคำว่า “LEV” (Low Emission Vehicle) เข้ามาต่อท้าย VTEC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ HONDA ที่เข้ามาช่วยเรื่องการเผาไหม้ให้หมดจดขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ คนไทยส่วนเรียกรุ่นนี้ว่า “งูเห่า” เนื่องจากเวลามองจากด้านหน้าและข้างมีลักษณะแบนราบคล้ายหัวงูเห่า และเป็น Accord รุ่นแรกที่ผลิตในเมืองไทย
Generation ที่ 7 ค.ศ. 2003 – 2007
ในรุ่นที่ 7 มีการเปิดตัวตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 ผลิตปี ค.ศ. 2003 – 2007 ที่ Marysville Ohio อเมริกา, Sayama Saitama ประเทศญี่ปุ่น, อยุธยา ประเทศไทย และ East Jalisco เม็กซิโก มีบอดี้ 2 แบบ คือ sedan 4 ประตู , coupe 2 ประตู ซึ่งผลิตออกมา 2 แบบเพื่อจำหน่ายญี่ปุ่นและยุโรป ความโดดเด่นในรุ่นนี้มีรูปโฉมที่ล้ำสมัย ฉีกไปจากแนวเดิมๆ ของแอคคอร์ดอย่างสิ้นเชิง ยกระดับเป็นซีดานขนาดกลางที่มีความหรูหราอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยี ที่ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่ง พร้อมทั้งมีการเอาเครื่องยนต์ HYBRID เข้ามาใช้ และหลังเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือนยังได้รับการประกาศให้เป็นรถยอดเยี่ยมประจำปี 2002-2003 ของญี่ปุ่นอีกด้วย(Japan Car of The Year Award 2002-2003)
สำหรับเมืองไทย เปิดตัวเมื่อต้นปี 2003 ด้วยเครื่องยนต์ 2.4 ลิตร i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC 2,354 ซีซี 160 แรงม้า และเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร V6 VTEC 6 สูบ 24 วาล์ว SOHC 2,997 ซีซี 220 แรงม้า ในปี 2005 เพิ่มรุ่น 2.0 ลิตร เพื่อกระตุ้นตลาดตอบโต้กระแสราคาน้ำมันแพง ด้วยเครี่องยนต์ขนาด 1,998 ซีซี i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC ที่ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ประหยัดน้ำมันมากขึ้นแต่ยังคงความหรูหราไว้เช่นเดิม
ไมเนอร์เชนจ์ ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2006 เปลี่ยนไฟหน้าและไฟท้ายใหม่ พร้อมปรับปรุงเครื่องยนต์ในรุ่น 2.4 ลิตร ให้มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 170 แรงม้า
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีมาให้อย่างครบครัน ระบบเบรกหน้า ดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อน ดิสก์เบรกหลังเป็นระบบกันสะเทือน หน้าแบบดับเบิ้ลวิชโบน อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง หลังแบบไฟว์-ลิงค์ ดับเบิ้ลวิชโบน อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลง รุ่นนี้บ้านเรามักเรียกว่า “ปลาวาฬ” เพราะลักษณะไฟท้ายของรุ่นแรกที่ออกมามีขนาดใหญ่คล้ายปลาวาฬ และในปี 2006 Accord มียอดสะสมการผลิตกว่า 15 ล้านคัน