“ไหล่ทาง” … สวรรค์ “นักมุด” ที่อาจมีจุดจบเป็น “นักโทษ”
ว่ากันตรงๆ เรื่อง “ไหล่ทาง” แบบไม่ต้องอ้อมค้อม เพราะเห็นกันมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดอุบัติเหตุจนเป็นประเด็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้ใช้รถ ใช้ถนนอยู่พักใหญ่ แต่ก็กลายเป็นเพียง “คลื่น” กระทบฝั่งที่สุดท้ายหายไป เพื่อรอให้ “คลื่น” ลูกใหม่กระทบฝั่งอีกครั้ง
เปรียบกับเรื่อง “ไหล่ทาง” ที่เกิดเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง จนทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่ก็เพียงแค่ชั่วครู่ เพราะท้ายที่สุดทุกวันนี้เราก็ยังเห็นผู้ใช้รถ ใช้ถนนหลายคัน ยังคงใช้ “ไหล่ทาง” เป็น “ช่องทางเดินรถ” กันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน ที่รถรามหาศาลออกมากองรวมกันอยู่บน “ถนน” หรือ “ทางด่วน” ที่ในบางจุดก็มีเจ้าพนักงานมาคอยอำนวยความสะดวกให้ใช้กันได้อย่างสบายใจ
แต่ “รู้หรือไม่” ว่าแท้จริงแล้วการใช้ “ไหล่ทาง” ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม คือ “การกระทำความผิดแบบเต็มๆ” เพราะใน “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” นั้นมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 4 ซึ่งประกอบด้วย
ข้อ (๓) “ทางเดินรถ” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับการเดินรถไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน
ข้อ (๔) “ช่องเดินรถ” หมายความว่า ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องสำหรับการเดินรถ โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้
ข้อ (๗) “ขอบทาง” หมายความว่า แนวริมของทางเดินรถ
ข้อ (๘) “ไหล่ทาง” หมายความว่า พื้นที่ที่ต่อจากขอบทางออกไปทางด้านข้างซึ่งยังมิได้จัดทำเป็นทางเท้า
ข้อ (๑๑) “ทางเท้า” หมายความว่า พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับคนเดินซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทาง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทางซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน
อีกทั้งยังไม่มีประโยคไหนใน “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” ซักนิดที่กล่าวถึงการอนุญาตให้ ข้อ (๑๕) “รถ” ที่หมายความว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด “สามารถใช้ไหล่ทางเป็นช่องทางเดินรถ” ได้ นอกจาก “รถฉุกเฉิน” ที่มีการระบุไว้ใน “มาตรา ๗๕ ที่ผู้ขับขี่ขับรถฉุกเฉิน (๕) ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถ หรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้ แต่ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี”
ฉะนั้นถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้คงพอสรุปได้อย่างชัดเจนว่า “รถ” อย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย นั้นไม่มีสิทธิใช้ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม แต่ก็เข้าใจดีว่าทุกวันนี้สภาพการจราจรในบ้านเรามันโหดขนาดไหน ฉะนั้นบางจุดอาจมีเจ้าพนักงานมาอำนวยความสะดวกให้ แต่ก็จงพึงระลึกเอาไว้เสมอนะครับว่า ณ ขณะที่คุณเข้าไปวิ่งบน “ไหล่ทาง” หมายถึง คุณกำลังกระทำผิด “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” แบบเต็มๆ ไปแล้ว 1 ข้อ
นอกจากการกระทำความผิด “พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒” แล้ว ยังมีความอันตรายแบบคาดไม่ถึงอีกด้วย เพราะหากสังเกตดีๆ ตาม “ไหล่ทาง” มักจะมี “ฝุ่น, กรวด, เศษขวด, เศษกระจกแตก หรือแม้แต่ขยะ” อยู่มากมาย และมันอาจทำให้มีปัญหาได้ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อคุณใช้ “ความเร็ว” เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหากเดือดร้อนรถคุณแค่คันเดียวก็ดีไป แต่ขึ้นชื่อว่า “อุบัติเหตุ” อะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งมันอาจใหญ่โตไปจนถึงขั้นพาทั้งตัวเอง และผู้อื่น เสียทรัพสินย์ หรือชีวิต อย่างที่เห็นในข่าวก็เป็นได้