รีวิว : BYD Atto 3 … สัมผัส “สมรรถนะ” เบาๆ ก่อนเปิดตัว
ในช่วงเวลาที่ทั้งตลาด และผู้บริโภคชาวไทยกำลังตื่นตัวกับกระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นผู้เล่นใหม่หลากหลายแบรนด์ เดินหน้านำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่ง BYD หรือ Build Your Dreams คือ หนึ่งในแบรนด์ผู้เล่นใหม่ที่เรามองว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังได้สัมผัส “สมรรถนะ” เล็กๆ น้อยๆ จาก BYD Atto 3 ยนตรกรรม Compact Crossover SUV แบบ B-Segment ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นทางการรุ่นแรกในบ้านเราเร็วๆ นี้
ซึ่งด้วยความที่ BYD Atto 3 ยังไม่ได้เปิดตัวเป็นทางการในประเทศไทย เลยทำให้เราคิดว่าการนำเสนอรายละเอียดออพชั่นต่างๆ ทั้งมหด ขณะที่ยังไม่มีข้อมูล คงดูเป็นเรื่องไม่เข้าท่าซักเท่าไหร่ นอกจากบางสิ่งบางอย่างที่เราค่อนข้างแน่ใจว่า “ชัวร์” แถมกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ สนามปทุมธานี สปีดเวย์ ครั้งนี้ ยังเน้นในเรื่อง “สมรรถนะ” เป็นหลัก … ฉะนั้นเราเลยขอข้ามมาสรุปให้ฟังหลังจากได้ลองขับขี่น่าจะดีกว่า ส่วนรายละเอียดเต็มๆ ค่อยมานำเสนอหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 10 เดือน 10
อย่างที่กล่าวไปว่า BYD Atto 3 มากับสไตล์ของ Compact Crossover SUV ที่มีขนาดกะทัดรัด ด้วยแพลตฟอร์มยานยนต์ EV เฉพาะทางใหม่ล่าสุด กับมิติตัวถังความยาว 4,455 มม. ความกว้าง 1,875 มม. และความสูง 1,615 มม. วางบนฐานล้อยาว 2,720 มม. พร้อมความสูงใต้ท้องรถที่ (Ground clearance) 175 มม.
ส่วนจุดเด่นที่น่าสนใจต้องยกให้งานดีไซน์ที่มาในแนวล้ำยุค ซึ่งสื่อถึงความเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าได้ค่อนข้างชัด ภายใต้หลักอากาศพลศาสตร์ เช่น กระจังหน้าแบบปิด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ “ลม” เข้าไประบายความร้อนในห้องเครื่องยนต์ ขณะที่ล้ออัลลอยด์สีทูโทน ก็มากับดีไซน์ที่ต้องบอกว่า “ความสวย” อาจต้องใช้เวลาซักพักให้ “ชินตา” แต่เหนืออื่นใด ก็น่ามาจากเหตุผลในเรื่องของงานอากาศพลศาสตร์อย่างที่ได้กล่าวไว้ ส่วนขนาดที่ใช้ก็คือ 18 นิ้ว พร้อมยางขนาด 215/55 R18 ตลอดจนติดตั้งหลังคา Panoramic Sunroof มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ภายในมากับเซอร์ไพรส์ ชนิดที่ว่าคงต้องเป็นเจ้าของเท่านั้น ถึงจะคุ้นเคย และใช้งานได้อย่างคล่องมือ ด้วยเพราะด้วยงานดีไซน์สุดล้ำมีเอกลักษณ์ อารมณ์เหมือนขับเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเกียร์ และรวมไปถึงเบาะนั่ง ส่วนโทนสีฟ้าที่ใช้ตกแต่งก็ต้องยอมรับว่าสร้างความสะดุดตาได้ดี แล้วก็น่าจะย้ำเตือนถึงสถานะความเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้าได้ชัดเจนขึ้น
ไล่มาถึงแผงประตู บริเวณช่องเก็บ เรียกว่าเป็นอีกจุดที่ดึงดูดสายตาไม่น้อย ด้วยงานออกแบบที่คล้ายกับหยิบยืมดีไซน์เครื่องดนตรีเครื่องสายมาใช้ ซึ่งข้อดีก็คือด้วยความยืดหยุ่น ทำให้คุณสามารถใส่ของชิ้นใหญ่ได้ แต่คำถามต่อมาก็คือใช้ไปนานๆ มันจะ “ยืดยาน” มั้ยนะ
ส่วนออพชั่นที่เราชอบที่สุด ก็ต้องนี่ล่ะครับ หน้าจอกลางขนาดใหญ่ถึง 12.8 นิ้ว (Intelligent Rotation Touch Screen ที่ไม่เพียงมีระบบสัมผัสซึ่งตอบสนองได้รวดเร็วทันใจ แต่หน้าจอยังปรับหมุนด้วยระบบไฟฟ้าได้ตามความต้องการทั้งแนวนอน และแนวตั้งอีกด้วย จะขัดใจอยู่นิดหน่อยก็เรื่องของหน้าจอ Information Display คนขับ ที่ดูเหมือนจะ “เล็ก” ไปนิดก็เท่านั้น
ว่ากันที่เรื่อง “การขับ” ต้องเล่าก่อนว่า Atto 3 มากับแพลตฟอร์ม BYD e-Platform 3.0 ใหม่ ออกแบบมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เท่านั้น (BEV) พร้อมด้วยการติดตั้งพร้อม Blade Battery ซึ่งออกแบบให้มีลักษณ์บาง และยาวเหมือนใบมีด ทั้งยังผ่านการทดสอบในสภาวะอันเข้มงวดต่าง เพื่อการันตีเรื่องความปลอดภัย ทั้งยังมีจุดเด่นในเรื่องของการระบายความร้อนได้ดี ส่งผลให้มีความร้อนต่ำขณะใช้งาน ตลอดจนสามารถกักเก็บพลังงานได้ดีกว่า
โดยในสเปคต่างประเทศระบุว่ามี 2 รุ่นย่อยให้เลือก คือ Standard Range ขนาด 49.9 กิโลวัตต์ ที่เคลมระยะทางการวิ่งไว้ไกลสุดที่ 345 กม. ขณะที่รุ่นสูงสุด Extended Range ขนาด 60.5 กิโลวัตต์ เคลมที่ 420 กม. ซึ่งต้องรอลุ้นว่าในบ้านเราจะมีให้เลือกทั้ง 2 รุ่น หรือไม่ ?
ส่วนทั้ง 2 รุ่น จะมากับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous สำหรับขับเคลื่อนล้อหน้า จะมากับเรี่ยวแรงราว 150 แรงม้า และแรงบิด 310 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ Single Speed การันตีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ไว้เท่ากันที่ 7.3 วินาที เช่นเดียวกับโหมดการขับขี่ที่มีให้เลือกทั้ง Eco, Comfort และ Sport
ซึ่งเท่าที่ได้ลองขับแล้ว จากสถานีแรก อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. สรุปสั้นๆ ว่าน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นการซิ่งด้วยโหมด Comfort หรือก็ตาม Sport แต่ที่น่าประทับใจเลยจริงๆ ก็คือ ในสถานี Handling ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนระบบพวงมาลัยเพื่อทดลองขับทั้ง Comfort และ Sport พบว่าน้ำหนักแตกต่างอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ขับขี่เลือกปรับใช้ได้ตามความต้องการ
ส่วนความสบายต้องยกให้โหมด Comfort ที่เบาแรง ควบคุมง่าย แถมยังเอื้ออำนวยให้ Atto 3 แสดงออกถึงความคล่องตัวได้ดี แถมยังมีวงเลี้ยวที่แคบ ขณะที่ในโหมด Sport น้ำหนักพวงมาลัยจะตึงมือขึ้นไปอีกระดับ ชนิดที่มั่นใจได้ว่าบนความเร็วสูงจะสร้างเสถียรภาพ และมอบอารมณ์ความสปอร์ตให้ได้สัมผัสอย่างแน่นอน
อีกจุดที่ต้องพูดถึงก็คือระบบเบรกที่เรียกได้ว่ามีความเป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงกับระบบเบรกที่เราคุ้นเคยกันมาช้านาน ชนิดที่ว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมายก็สามารถใช่งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกปรับตั้งน้ำหนักได้ระหว่าง Comfort และ Sport อีกด้วย
ท้ายสุดกับสถานีทดสอบเรื่องของระบบความปลอดภัย คร่าวๆ ก็คือ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control with Stop & Go), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องจราจร (Lane Keeping Assist) แล้วก็ระบบเตือนก่อนการเปิดประตูรถ (Door Open Warning) ที่ต้องบอกเลยว่าในภาพรวมของการลองขับครั้งนี้
สรุปง่ายๆ คือ “ดีงาม” … จนเรากล้าพนันว่าหลายคนน่าจะรู้สึกเช่นเดียวกัน หลังจากได้ลองขับ แล้วก็น่าจะทำให้ BYD กลายเป็นแบรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า อันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องนึกถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสิ้นสุดการรอคอยเรื่อง “ราคา” ที่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าได้รู้กัน