โตโยต้า ( Toyota ) เดินหน้าถ่ายทอดศิลปะสู่เยาวชน ผ่านโครงการค่ายศิลปะมหิดลวิทยานุสรณ์
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และผศ.ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการค่ายศิลปะมหิดลวิทยานุสรณ์ – โตโยต้า ครั้งที่2 (Mahidol Wittayanusorn School – Toyota Art Camp) ซึ่งเป็นการดึงศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน มาถ่ายทอดผ่านการออกแบบและวาดการ์ตูน โดยได้นักออกแบบมืออาชีพจาก บริษัท Charas และ At Company จากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมมอบความรู้ให้ เมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ศ.ดร. ณัฐ ภมร-ประวัติ ชั้น 4 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
โครงการค่ายศิลปะมหิดลวิทยานุสรณ์ – โตโยต้า ครั้งที่2 (Mahidol Wittayanusorn School – Toyota Art Camp)
โครงการค่ายศิลปะสู่เยาวชน จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนำผู้เชี่ยวชาญการออกแบบคาแรคเตอร์และการ์ตูนสัญลักษณ์ (Mascot) จากประเทศญี่ปุ่น มาถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนและครูผู้สอนทัศนศิลป์ที่อยู่ภายใต้โรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษา เริ่มต้นโครงการนำร่องแห่งแรกที่ โรงเรียนจิตรลดา โดยมีคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมอบรมมากกว่า 50 คน
โดยโครงการค่ายศิลปะมหิดลวิทยานุสรณ์ – โตโยต้า (Mahidol Wittayanusorn School – Toyota Art Camp) ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ผ่านการอบรมจากปีที่ 1 นักเรียนและครูผู้สอนที่สนใจท่านอื่น ต่อยอดองค์ความรู้จากการออกแบบและวาดภาพการ์ตูนด้วยคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน มาสู่หลักสูตรการใช้เทคโนโลยีเพื่อการออกแบบคาแรคเตอร์
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการอบรมระยะสั้น จำนวนทั้งสิ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 28-30 กันยายน พ.ศ.2559 ระหว่างเวลา 8.00 – 16.30 น. มีจำนวนผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 20 คน และมีคณะครูผู้สอนจาก บริษัท Charas และ At Company ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเรื่องการออกแบบจากประเทศญี่ปุ่น 3 ท่าน ได้แก่
1. มร.อิโซยาม่า นาโอกิ หัวหน้าทีมครูฝึกสอน
2. มิส ฮิราโนะ นากิซะ ครูฝึกสอน
3. มิส คุนิเอดะ มากิโกะ ครูฝึกสอนและผู้ประสานงาน
โดยเนื้อหาการอบรม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
♦ ภาคทฤษฎี
– แนะนำการสร้างตัวมาสคอต
– แนะนำโปรแกรม Adobe Illustrator
– การร่างแบบมาสคอตด้วยมือ
♦ ภาคปฏิบัติ
– การพัฒนามาสคอต
– การสร้างข้อมูลตัวละคร
– การสร้างโปสเตอร์
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนในการขยายองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับโรงเรียนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจและช่วยพัฒนาทักษะด้านศิลปะให้กับเยาวชนไทย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและชื่นชมในระดับสากลต่อไป