แถลงไขข้อ “ข้องใจ” เรื่อง “ใบสั่งความเร็วซ้ำซ้อน”
กฎจราจรกับความเป็นจริงบางทีมันวิ่งสวนทางกัน โดยบางครั้งเราเองก็ไม่ได้อยากที่จะทำผิดแบบเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความเร็ว” เช่น ในกรณีเดินทางไกลระดับ 6-700 กม. แต่บังคับใช้ความเร็ว 90 กม./ชม. ซึ่งก็เข้าใจว่าเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
แต่เชื่อเถอะว่าหลายคนเมื่อลองได้ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเกิดอาการ “ง่วงเหงา หาวนอน” เป็นธรรมดา แม้จะนอนมาเต็มอิ่มแล้วก็เถอะ เพราะงั้นบางครั้งเลยเผลอบ้างที่จะใช้ความเร็วไปแบบไม่ทันตั้งตัว เพื่อ “แก้ง่วง” ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่พ้นสายตาของ “กล้องจับความเร็ว” แถมบางครั้งในวันเดียว โดนกันไปหลายไปซ้อน จนกลายเป็นความสงสัยเรื่องการ “ชำระ”
โดยหลายเสียงก็บอกว่า “โดนในวันเดียวกัน จ่ายเพียงใบเดียวเท่านั้น” และอีกหลายเสียงก็บอกว่าเรื่องนี้ “ต่างกรรม ต่างวาระ” โดนกี่ใบจ่ายเท่านั้น จนทำให้เราเองก็สงสัย แต่ไม่อยากเถียงต่อให้เป็นเรื่อง เป็นราว แต่เอาเป็นว่าหาคำตอบอย่าง “จริงจัง” สไตล์เราดีกว่า ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ การต่อสายตรงถึง “กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.02)” และสอบถามเฉพาะสิ่งที่สงสัยในเรื่องของ “การชำระใบสั่งความเร็ว” ให้รู้เรื่องกันไป
และคำตอบแบบ “ชัดเจน” ก็คือ “ต่างกรรม ต่างวาระ” ครับ กล่าวง่ายๆ ก็คือ “ใน 1 วัน คุณเดินทางไปไหนก็ตาม แล้วโดนกล้องจับความเร็วยิง จนมีใบสั่งส่งมาที่บ้าน กี่ใบก็ต้องจ่ายตามนั้น” ครับ เพราะเหตุผลก็คือ คุณทำความผิดเดียวกัน แต่แค่คนละพื้นที่รับผิดชอบนั่นเอง ฉะนั้นต้อง “เหมาหมด” เพื่อเป็นรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำ
รู้แบบนี้แล้วเล่นเอาเสียวสันหลังไม่น้อยเลยนะครับ กับกล้องตรวจจับความเร็วที่ “งอก” เป็นดอกเห็ด คอย “สอย” เราบนถนนทุกเส้นที่ใช้ ฉะนั้นขับขี่ไปไหนกันก็ตาม ไม่ใช่แค่ตั้งสติก่อนสตาร์ทเท่านั้นนะครับ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย ไม่งั้นล่ะก็ได้จ่ายค่าใบสั่งความเร็วกันอ่วมแน่นอน