เคยสงสัยมั้ย … ? ทำไมปิด Traction Control ต้อง “กดค้าง”
ฟังค์ชั่นต่างๆ ในรถใหม่ยุคปัจจุบัน บอกตรงๆ ว่าแต่ละแบรนด์ แต่ละค่ายนั้นจัดให้มามากมายเต็มพิกัด ชนิดที่ว่า “คู่มือ” คือ สิ่งสำคัญที่คุณควรหยิบไปอ่าน ศึกษา และทำความเข้าใจ เพราะบางฟังค์ชั่นการใช้งานนั้นมีทั้งให้ “ทั้งคุณ และโทษ” หากใช้งานไม่เหมาะสม โดยหนึ่งในหลายๆ ฟังค์ชั่นที่ “ส่วนตัว” ผมเคยโดนสอบถามเรื่องการใช้งานก็คือ ปุ่มที่เป็นสัญลักษณ์รูปรถ แล้วก็มีเส้นโค้งไปมา ที่บ่งบอกลักษณะอาการ “เลื้อย” ของรถ พร้อมตัวหนังสือ “OFF” ที่ในภาษาทางการเค้าเรียกว่า “Traction Control” นั่นเอง
สำหรับระบบ Traction หน้าที่หลักๆ ของเค้าก็คือ “ป้องกันการลื่นไถลของรถ” ซึ่งแม้ผู้ขับขี่จะไม่ประมาท และระมัดระวังแค่ไหนก็ตาม แต่อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะกับเมืองไทยที่ “ฝนตก” เป็นว่าเล่น แถมถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อจนมีแอ่งน้ำขัง จนสามารถเกิดอาการ “เหินน้ำ” หรือเกิดการ “สลิป” จนทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่ายๆ เนื่องจากอัตราการ “หมุน” ของล้อขับเคลื่อนไม่เท่ากัน
เพราะฉะนั้นระบบนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาร่วมกับพี่ๆ น้องๆ อย่าง “ระบบควบคุมการทรงตัว” ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์ โดยหน้าที่หลักๆ ก็คือ สร้างสมดุลให้กับการขับขี่ เพื่อให้รถที่เสียการควบคุมกลับมาอยู่กับร่องกับรอยนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการสั่งเพิ่มน้ำหนักเบรกในล้อที่เกิดอาการ “หมุนเร็ว” กว่าให้กลับมาเท่ากัน ตลอดจนการสั่ง “ลดกำลังเครื่องยนต์” โดยอัตโนมัติ
ส่วนวิธีการใช้งานนั้นก็ไม่มีอะไรยาก เพราะโดยปกติแค่ทำการสตาร์ทรถ ระบบก็เตรียมพร้อมที่จะทำงานโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว อีกทั้งระบบนี้ก็สามารถที่จะสั่งการให้ปิดการทำงานได้อีกด้วยเช่นกัน ด้วยปุ่มกดที่เป็นรูปรถ แล้วก็เส้น “เลื้อย” พร้อมตัวหนังสือว่า “OFF” นั่นล่ะครับ และการสั่งปิด Traction ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่ “กดปุ่มค้าง” ไว้ ซักราวๆ 3-5 วินาที ให้ไฟสัญญาณสีแดงโชว์บนหน้าปัดเท่านั้นก็เป็นอันจบพิธี
โดยถ้าถามว่า “ทำไมต้องกดค้าง” เพื่อสั่งการ “ปิดระบบ ” … คำตอบที่ง่ายแสนง่ายก็คือ “ผู้ขับขี่ตั้งใจที่จะปิดระบบ” สำหรับในบางกรณีเท่านั้น เช่น ขับบนโคลนเหนียวๆ หรือ พยายามดิ้นหลุดจากพื้นทราย ซึ่งอาจต้องมีการเดินหน้า ถอยหลัง สร้างระยะเพิ่มพื้นที่หาแรงส่ง หรือ หมายถึงเราต้องปล่อยให้ล้อเกิดการหมุนฟรีบ้าง เพื่อตะกุยจนกว่าจะหน้าสัมผัสของยางข้างใด ข้างหนึ่งจะเกิดการยึดจับ
เพราะงั้นหากยังคงเปิดใช้ Traction อยู่ และด้วยหลักการทำงานของระบบที่เมื่อจับได้ว่าล้อใด ล้อหนึ่งหมุนฟรี เค้าจะสั่ง “ตัดกำลัง” เครื่องยนต์ และ “แก้อาการล้อหมุนฟรี” โดยอัตโนมัติล่ะก็ รถยังไม่ทันมีแรงส่ง และหน้าสัมผัสของยางก็ยังไม่ทันจับอะไรยึดเหนี่ยวได้ ระบบก็ทำงานทันที เพราะงั้นเมื่อไหร่ล่ะครับถึงจะดิ้นหลุด
ฉะนั้นด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ระบบ Traction Control จึงเป็นสิ่งทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะไม่ปลอดภัยเช่นกัน หากไปปิดระบบ โดยเฉพาะกับการขับขี่ใช้งานปกติ ซึ่งด้วยเหตุนั้น “ปุ่มนี้” จึงถูกออกแบบให้ใช้งานด้วยการ “กดค้าง” ที่จะหมายถึงผู้ขับขี่ “ตั้งใจ” หรือ “จงใจ” ที่จะปิด
ไม่ใช่แค่ “เผลอ” หรือ “พลาด” ไปจิ้มโดนแล้วระบบ Traction ตัดการทำงานทันที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อ “ความปลอดภัย” ของผู้ใช้รถทุกท่าน โดยไม่ได้ประสงค์จะออกแบบมาให้ใช้งาน “ยาก” แต่ประการใดแม้แต่น้อย