“รู้ทัน” สัญญาณเตือน … ก่อน “ผ้าเบรก (Brake Pad) หมด”
ระบบเบรก นับว่าเป็น สิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานในรถยนต์ ที่ต้องได้รับการ “ตรวจสอบ” และ “ดูแล” อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกๆ การเดินทางเต็มไปด้วยความมั่นใจ และความปลอดภัย เพราะหน้าที่หลักของ ระบบเบรก ก็คือ การชะลอ หรือ หยุดรถ ซึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ต้องรับบทหนักในการทำหน้าที่ ก็คือ “ผ้าเบรก (Brake Pad)” และก็ควรที่จะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการ “รู้ทัน” ก่อนที่มันจะ “หมด” … ด้วยวิธีง่ายๆ เหล่านี้
อายุการใช้งาน
ข้อแรกง่ายๆ ใช้การสังเกตของเราเองเป็นหลัก เพราะผ้าเบรกคืออีกสิ่งที่มีอายุการใช้งาน ซึ่งโดยปกติของรถยนต์จะอยู่ประมาณ 30,000 – 50,000 กม. ตามแต่ลักษณะการใช้งาน และการขับขี่ ฉะนั้นเราอาจจะจด หรือ จำระยะเลขไมล์เอาไว้ก็ได้ ซึ่งพอใช้งานไปจนได้ระยะดังกล่าว ก็ให้ลองตรวจเช็คดูสักครั้ง เพื่อประมาณการว่าผ้าเบรกยังเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน
สัญญาณไฟ
แต่ถ้าข้อแรกยากไป หรือขี้เกียจจดจำ อีกวิธีก็คือ ใช้งานไปเรื่อยๆ แต่ให้สังเกตสัญญาณไฟขึ้นเตือนบนแผงหน้าปัด ซึ่งถ้าไฟโชว์ค้างเมื่อไหร่ล่ะก็ นั่นหมายถึงระบบเบรกรถคุณกำลังมีปัญหา ซึ่งคุณก็ควรที่จะรถนำรถเข้าเช็คทันที อย่าปล่อยไว้ เพราะนั่นอาจจะเกิดจากสาเหตุของผ้าเบรกที่สึกหรอจนบาง ทำให้ระดับน้ำมันเบรกถูกใช้มากขึ้น และลดลงต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม จนทำให้สัญญาณไฟของระบบเบรกติดขึ้นมานั่นเอง
ระดับน้ำมันเบรกต่ำ
แต่ถ้าไม่อยากเจอเซอร์ไพร์แบบขับอยู่ดีๆ ก็สัญญาณไฟเบรกโชว์ล่ะก็ เราแนะนำง่ายๆ ให้เสียเวลาเปิดฝากระโปรงรถซักนิด แล้วเช็คระดับน้ำมันเบรกก่อนดีกว่า ซึ่งถ้าอยู่นระดับปกติก็โอเคไป แต่ถ้าเช็คแล้วอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ โดยไม่เจอรอยรั่วใดๆ ก็อาจเป็นได้ว่าจานเบรกรถคุณใกล้หมด จนสมควรเปลี่ยนแล้วล่ะครับ
เบรกลึก / เบรคมือสูง กว่าปกติ
แน่นอนครับรถเราใช้งานทุกวัน ใช้งานบ่อยๆ น้ำหนักเบรก ระยะเบรก ย่อมต้องคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนเกิดความรู้สึกในการเบรกเปลี่ยนเป็นต้องกดแป้นเบรก “ลึกกว่า” ปกติ หรือ เหยีบบเบรกแล้ว “ความเร็ว” ลดลงช้ากว่าปกติ หรือ ต้อง “เหยียบเบรกหลายครั้ง” รถถึงจะชะลอความเร็วล่ะก็ นั่นแสดงว่าผ้าเบรกของคุณบางมากแล้ว ซึ่งนั่นรวมถึงการสังเกตระยะการดึงเบรกมือด้วยเช่นกัน เพราะหากต้องดึงด้วยระยะที่สูงกว่าปกติ ก็ชัดเลยว่าผ้าเบรกรถคุณใกล้จะ “ไป” แล้วล่ะครับ
เสียงโลหะเสียดสี
สุดท้ายกับวิธีคลาสสิคที่สุด ก็คือ “การฟังเสียง” ซึ่งหากขณะเบรกเกิดเสียงดังมาบริเวณล้อรถ ในลักษณะที่คล้ายเสียงเหล็กเสียดสีกัน นั่นหมายถึง ผ้าเบรกรถคุณบางจนถึงแผ่นเหล็กที่เป็นตัวเตือน และไปขูดกับจานเบรคแล้ว ฉะนั้นเมื่อแผ่นเหล็กนี้เสียดสีกับจานเบรกก็จะทำให้เกิดเสียงดัง
และมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นล่ะก็ควรแล้วล่ะครับที่จะต้องหาร้านเปลี่ยนผ้าเบรกทันที โดยอย่าได้เสี่ยงขับต่อไป เพราะนั่นอาจจะสร้างความวิกฤตขนาด “จานเบรกแตก” ขึ้นมา จนเป็นปัญหาใหญ่ และอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพสินย์ได้ง่ายๆ เลยทีเดียว
และอีกสิ่งสำคัญหลังจากที่คุณเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่มาแล้ว เราแนะนำว่าควรที่จะขับรถในแบบที่เน้นความ “ปลอดภัย” เป็นหลัก อย่าขับเร็ว, ขับจี้คันหน้ามากนัก รวมถึงค่อยๆ เบรก เพราะนอกจากจะต้องให้เวลาผ้าเบรกใหม่ปรับหน้าสัมผัสให้เข้ากับจานเบรกแล้ว ยังเป็นการปรับสัมผัสของผู้ขับให้คุ้นเคยกับจังหวะ และน้ำหนักการเบรกอีกด้วย เพื่อให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพความปลอดภัย