ทำความรู้จัก “เทศกาลไหว้พระจันทร์”
ใกล้จะถึง เทศกาลไหว้พระจันทร์ แล้ว เพื่อนๆ รู้ไหมว่า วันนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง เราไปทำความรู้จักกันค่ะ
วันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 กันยายน 2562 และในเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น
ขนมไหว้พระจันทร์
นอกจากนี้แล้ว ยังมีขนมชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” ที่มีสันฐานกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้ง มีไส้ต่างๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้ แต่ชาวเพือนๆ รู้หรือไม่ว่าประวัติความเป็นมาของวันไหว้พระจันทร์มีที่มาที่ไปอย่างไร
ประวัติของวันไหว้พระจันทร์
เทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) ทุกๆ ครัวเรือนจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาไหว้พระจันทร์ พร้อมกับการชมพระจันทร์จนกลายเป็นประเพณีของจีนตลอดมา สำหรับประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์นั้น เกิดขึ้นเมื่อสมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน เมื่อชาวมองโกลกดขี่ข่มเหงและทำร้ายชาวจีนอย่างโหดเหี้ยม และเพื่อควบคุมดูแลชาวจีนอย่างใกล้ชิด ชาวมองโกลจึงส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คน เป็นอันว่าชาวจีนทุกๆ ครัวเรือนต่างต้องเลี้ยงดูทหารมองโกล 1 คน ทหารมองโกลเหล่านี้ยังก่อกรรมทำชั่วไปหมด
ทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านหลิวปั๋วเวิน คิดได้วิธีหนึ่ง คือ ให้นำกระดาษเขียนข้อความ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม เรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนลงมือสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ในบ้านของตน อย่างพร้อมเพรียงกันในวันเพ็ญเดือนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ชาวจีนที่ไปซื้อขนมมารับประทานกัน ต่างได้อ่านข้อความดังกล่าวและช่วยกันกระจายข่าวนี้ออกไป เพื่อก่อการปฏิวัติโดยพร้อมเพรียงกัน ณ วันเพ็ญเดือนแปด ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด
เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งหนใดที่มีชาวจีนเดินทางไปถึงก็จะพาประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ไปด้วย สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในไทยนั้น เป็นแบบของกวางตุ้งโดยส่วนใหญ่ หลายปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตในไทย ไม่ว่าด้านคุณภาพ รสชาติ และการบรรจุล้วนมีระดับที่สูงขึ้น
ขนมไหว้พระจันทร์มีไส้อะไรบ้าง
ขนมทรงกลม สามารถใส่ไส้ได้หลากหลาย แต่ขนมแบบดั้งเดิมจะนิยมใช้เป็นไส้ธัญพืชและเนื้อของผลไม้กวนหลากรส มักใช้เป็นผลไม้ที่เก็บไว้ได้นานผ่านการแปรรูปแล้วเช่น ทุเรียนกวน, เมล็ดบัว, ถั่วกวนต่างๆ ส่วนในปัจจุบันมีการดัดแปลงไส้ต่างๆ ให้มีความหลากหลาย มากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มเนื้อสัตว์ต่างๆ เข้าไป เช่น ขนมไว้พระจันทร์ไส้หมูแฮม ไส้ไข่เค็ม ไส้หมูแดงและหมูหยองเป็นต้น
แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการดัดแปลงทำให้ทันสมัยและรับประทานง่ายขึ้นด้วยการทำไส้ที่หลากหลายเช่น ชาเขียว อัลมอลด์ ช็อกโกแลต ครีมคัสตาร์ด หรือบางแห่งก็จะทำออกมาคล้ายๆ ขนมโมจิ มีสีสันและรูปทรงน่ารับประทานมากขึ้นนั่นเอง พอเรารู้จักที่มาที่ไปประวัติวันไหวพระจันทร์กันแล้ว และได้รู้ถึงเรื่องราวของขนมไหว้พระจันทร์กันไปพอสมควรสิ่งต่อไปก็คือ ขั้นตอนของการไหว้พระจันทร์ต้องทำอย่างไร?
ขั้นตอนพิธีการไหว้พระจันทร์
พิธีไหว้พระจันทร์จะไหว้กลางแจ้งหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ (เมื่อเห็นพระจันทร์ก็สามารถไหว้ได้เลย) การตั้งโต๊ะจะจัดให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้าก็ได้
เครื่องบวงสรวงที่ใช้จะไหว้ด้วยของเจเหมือนไหว้เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งไหว้พระจันทร์เพื่อให้มีคู่ คนจีนจะถวายอาหารเป็นเลขคู่ แต่บางคนอาจถวายอย่างละ 5 ก็ได้ ของไหว้ควรเป็นของแห้ง เพราะการไหว้พระจันทร์จะทำพิธีในตอนกลางคืน หากไหว้ด้วยของสดอาจเน่าเสียได้ง่าย
ของไหว้ประกอบไปด้วย
- น้ำชาหรือใบชา 4 ถ้วย
- อาหารเจ 4 อย่าง เช่น วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
- ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี้ยะ สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว
- ผลไม้ 4 อย่าง ควรเป็นผลไม้ที่เป็นมงคล เช่นทับทิม ที่มีเมล็ดมากมาย หมายถึง การมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง
แอปเปิ้ล หมายถึง ความสงบสุข สันติ
ส้มโอ หัวเผือก
องุ่น หมายถึง มีแต่ความเพิ่มพูน
ส้ม หมายถึง เป็นสิ่งมหามงคล
สาลี่ หมายถึง มีแต่เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต- ดอกไม้สด 1 คู่ ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก เทียน 1 คู่ และกระถางธูป
- ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง
- โคมไฟ เพื่อให้มีชีวิตที่สว่างไสว
- อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
- กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง เช่น ค้อซี, กอจี๊, เนี้ยเก็ง, โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย คือ กระดาษเงินกระดาษทอง, เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์
จากนั้นนำขอทั้งหมดมาจัดวาง เริ่มจากการตั้งโต๊ะ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นอ้อยผูกโคมไฟไว้กับต้นอ้อยให้สวยงาม วางกระถางธูป เทียนไว้ด้านหน้าสุด ดอกไม้วางไว้สองข้าง ผลไม้จัดตามความสวยงาม ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ที่จัดเรียงเป็นชั้น วางขนมโก๋ และขนมหวานต่างๆ รอบโต๊ะวางประดับประดาด้วยกระดาษลวดลายที่มี อย่างไรก็ดีการจัดตั้งโต๊ะนั้นไม่ตายตัวเสมอไป แล้วแต่ใครมีวิธีการที่ต่างกันไปเน้นความสวยงามเป็นหลัก จากนั้นก็ไหว้อธิษฐานขอพรต่อพระจันทร์
ขอบคุณภาพและข้อมูล : www.sanook.com