“ถังดับเพลิง” ในรถ … อุปกรณ์สำคัญที่หลายคนมองข้าม
ว่ากันง่ายๆ เรื่องของ “ถังดับเพลิง” ในรถยนต์ ซึ่งบอกเลยว่าหัวข้อนี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก ว่าควรติดตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่วิจารณญาณของเจ้าของรถ … เพียงแค่อยากแนะนำ หรือเล่าสู่กันฟัง ว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่เหตุการณ์ ไฟไหม้รถยนต์ จะเกิดกับรถที่ติดตั้งแก๊สเท่านั้น เพราะรถยนต์ที่ใช้น้ำมันก็มีโอกาสเกิดได้เหมือนกัน ด้วยหลายสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้าลัดวงจร หรือ สายยางท่อเชื้อเพลิงรั่ว
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของรถ และการดูแลรักษา ซึ่งบอกตรงๆ ว่าก็ไม่ใช่เฉพาะรถเก่าเสมอไป หากแต่รถใหม่ๆ ที่ดูแลรถอย่างดี บางที “พี่หนู” ก็อาจจะพิสวาสเข้ามาแทะสายไฟรถเล่นแบบไม่ให้รู้ตัว และใช้ไป ใช้มา เกิดอาการ “ช๊อต” ขึ้นมาก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า “ถังดับเพลิง” ในรถยนต์ ควรจะมีไว้หรือไม่ เราเลยปล่อยให้ลองไปคิดดูกัน
แต่สำหรับผู้ที่รักความอุ่นใจอยากพก “ถัง” ติดรถไว้ป้องกันกรณีดวงซวย เราก็มีวิธี “เลือก” ใช้มาฝาก เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทของการเกิดเพลิงไหม้ เพราะเกิดการเพลิงไหม้แต่ละประเภท ต้องใช้เคมีในการดับไฟที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะเลือกซื้อถังดับเพลิงมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแบ่งเป็น
- เพลิงไหม้ประเภทที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ซึ่งอาจติดไฟได้จากส่วนที่เป็นวัสดุของรถ เช่น เบาะรถยนต์
- เพลิงไหม้ประเภทที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเครื่อง แก๊สรถยนต์
- เพลิงไหม้ประเภทที่เกิดจากการขัดข้องของไฟฟ้า
เลือก ถังดับเพลิง ยังไงถึงให้เหมาะ
สำหรับถังดับเพลิงในท้องตลาดนั้นมีหลายชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันในส่วนของสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายใน ที่มีความสามารถในการดับไฟ และข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป โดยหลักๆ คือ
- แบบสเปรย์โฟม ที่เหมาะสมกับเพลิงไหม้ประเภทที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง และเพลิงไหม้ประเภทที่เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีข้อดี คือ น้ำหนักเบา พกพาสะดวกง่าย และข้อ คือ ดับไฟได้ไม่ทุกชนิด
- แบบผงเคมีแห้ง ที่เหมาะสมเพลิงไหม้ในรถยนต์ทุกรูปแบบ ซึ่งมีข้อดี คือ ราคาไม่สูง และสามารถดับไฟได้เร็วกว่าแบบแรก ขณะที่ข้อเสีย คือ จะฟุ้งกระจาย ตามด้วยแรงดันในถังจะตก ไม่สามารถใช้งานได้ และต้องส่งบรรจุใหม่
- แบบสารเหลวระเหย ที่เหมาะสมกับเพลิงไหม้ในรถยนต์ทุกรูปแบบเช่นกัน พร้อมด้วยข้อดี คือ สามารถดับไฟได้ทุกประเภท โดยไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังใช้ และสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่ต้องแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง
- แบบเคมีสูตรน้ำ เหมาะสมกับเพลิงไหม้ในรถยนต์ทุกรูปแบบเช่นกัน โดยมีข้อดี คือ สามารถดับไฟได้ทุกประเภทได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงป้องกันไฟลุกขึ้นมาติดอีก ขณะเดียวกันก็สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หากใช้ไม่หมด ส่วนข้อเสีย ก็คือ “ราคา” ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเภทอื่นๆ และเป็นประเภทที่เหมาะสมที่สุด ถ้าคิดจะติดตั้งในรถยนต์
ติดตั้งให้เหมาะ เพื่อความสะดวกในการใช้
และสำหรับคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ และคิดอยากจะติดตั้งในรถยนต์ล่ะก็ ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่ “ในฝากระโปรงหลัง” จุดเดียว อย่างที่ทำๆ กัน เพราะส่วนใหญ่จุดที่เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ ส่วนใหญ่มาจากทางด้านหลังรถ ทั้งจากการติดตั้งระบบแก๊ส หรือถังน้ำมัน ซึ่งนั่นไม่สามารถทำให้เรานำถังดับเพลิงมาใช้ได้
ฉะนั้นตำแหน่งติดตั้งที่เหมาะสมที่สุด จึงควรเป็น “ภายในห้องโดยสาร” บริเวณเบาะหน้าใกล้คนขับ และบริเวณเบาะหลัง เพื่อให้หยิบใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่ก็สามารถ “สำรอง” ไว้ได้ ในส่วนของภายในฝากระโปรงหลัง เพื่อรองรับการเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ … แต่เหนืออื่นใด คือ เรื่องของ “สติ” ที่ผู้ใช้รถควรต้องควบคุมให้ดี ขณะเกิดเหตุ เพื่อจะได้ใช้อุปกรณ์ที่มีอย่างชำนาญ เพื่อสร้างความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพสินย์