“Hydroplane” คือ อะไร และ “รับมือ” อย่างไรให้ปลอดภัย
กับสภาพถนนในเมืองไทยที่หลายคนรู้ๆ กันอยู่ ว่าแค่ “ฝนตกเบาๆ” หรือ “น้ำไม่ระบาย” ไม่ทัน ก็สามารถกลายเป็น “แอ่งน้ำ” ได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นแหละ คือ ต้นตอของปัญหาที่ทำให้เกิด “Hydroplane” หรืออาการ “เหินน้ำ” กับผู้ใช้รถ โดยอาการดังกล่าวคืออะไร วันนี้เราจะมารู้จักกันให้มากขึ้น รวมถึงวิธีรับมือ ด้วยเช่นกัน
“Hydroplane” คือ อาการที่เรียกว่า “เหินน้ำ” อันเนื่องมาจากการสูญเสียแรงยึดเกาะถนนจาก “น้ำ” ที่ดันมาคั่นกลางอยู่ระหว่าง “ยาง” และ “พื้นถนน” ซึ่งมีตัวแปรสำคัญๆ อันประกอบด้วย “ความเร็ว” ที่ยิ่งมากเท่าไหร่ความสามารถในการ “รีดน้ำ” ของยางก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
นอกจากนี้เรื่องของ “ความเร็ว” ก็มีความสัมพันธ์กับ “ยาง” ที่ใช้ด้วยเช่นกัน และเราควรรตรวจสอบสภาพยางอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “ร่องดอกยาง” เพราะนั่นหมายถึงประสิทธิภาพ ความสามารถในการ “รีดน้ำ” ทั้งยังมีเรื่อง “ขนาด” ของยางรถยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เพราะ “ยางหน้ากว้าง” ก็มีโอกาสเสี่ยงในการ “เหินน้ำ” เช่นกันเนื่องจาก “หน้าสัมผัส” ที่มีมากกว่า ขณะเดียวกันก็ใช่ว่า “ยางหน้าแคบ” จะดีกว่าเสมอไป เพราะ “หน้าสัมผัส” ที่น้อยกว่าก็ถือว่าเป็นข้อด้อย และตัวแปรสำคัญ ที่ต้องขึ้นอยู่กับ “ความเร็ว” เช่นกัน
ฉะนั้นวิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง ก็คือ หมั่นตรวจสอบสภาพ “ดอกยาง” อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพของการ “รีดน้ำ” และเมื่อพบเจอแอ่งน้ำขณะขับขี่ ก็คือ อย่าพุ่งเข้าใส่เหมือน “ปลากระดี่ได้น้ำ” เพราะคุณเองก็ไม่รู้ว่าใต้แอ่งน้ำนั้นๆ มีอะไร เพราะงั้นก็ควรที่ชะลอความเร็วลงให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องไม่อยู่ในระดับที่สร้างอันตรายต่อเพื่อนร่วมท้องถนน เพื่อขับผ่านแอ่งน้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากอะไรๆ ที่มองไม่เห็นใต้แอ่งน้ำ รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ “Hydroplane” ด้วยเช่นกัน … แต่ถ้า “เผลอ” จนเกิด “อาการ” ขึ้นล่ะ จะทำยังไงไปดูกัน
อันดับแรก “สติ” ควรต้องมีไว้ก่อน อย่าเพิ่ง “เตลิด” ถ้ายังไม่อยากเสีย “สตางค์” จากนั้นจับพวงมาลัยให้กระชับ และถือพวงมาลัยในทิศทางตรงไปข้างเท่านั้น ห้ามหักพวงมาลัยเด็ดขาด ตามด้วยการถอนเท้าเนียนๆ ออกจากคันเร่ง หรือใช้เกียร์ต่ำเพื่อ “ลดความเร็ว” ลง แต่ยกเท้าออกทันที รวมถึงห้ามเบรกกะทันหันโดยเด็ดขาด เพราะการเบรกอย่างรุนแรง จะทำให้รถสูญเสียการควบคุมโดยสิ้นเชิง
โดยเฉพาะเมื่ออาการนี้จะเกิดขึ้นกับ “ล้อเพียงข้างเดียว” และในรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่มีอยู่มากมายในบ้านเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ล้ออีกข้างที่ยังมีการยึดเกาะถนนอยู่กลายเป็น “แกน” ด้วยแรงยึดเกาะถนนที่มีมากกว่าล้ออีกข้าง จนทำให้เกิดการดึงรถไปทางใด ทางหนึ่ง และอาจถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ที่เล่นงานทั้งชีวิต และทรัพย์สินได้เลยทีเดียว
แต่หากอาการนี้เกิดขึ้นกับรถขับเคลื่อนล้อหลัง มันจะลักษณะคล้ายการทำ “ดริฟท์” ซึ่งวิธีแก้ ก็ทำแค่คือยกคันเร่ง ลดความเร็ว พร้อมกับค่อยๆ หมุนพวงมาลัยไปยังทิศทางเดียวกับที่ท้ายรถเริ่มกวาดออก ขณะที่รถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นคุณต้องมีทักษะพอตัวเลยทีเดียว เพราะอาการที่ออกจะมาทั้ง หน้าดื้อ (Understeer) และ ท้ายปัด (Oversteer) แทบจะในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นเราแนะนำให้พยายามชะลอความเร็วลง และรักษาทิศทางของรถไว้ เนื่องจากถ้าเลยเถิดไปมันจะมีผลลัพธ์ที่ออกมา “ไม่งาม” กว่า รถขับหน้า หรือ รถขับหลัง เลยทีเดียว