“ยางบวม” อย่าปล่อยไว้ อาจเกิด “ภัย” ไม่รู้ตัว
ว่าด้วยเรื่องของสิ่งยึดเหนี่ยวระหว่าง “รถ” และ “พื้นโลก” คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ยาง” แม้จะทำช่วงล่างระดับ “เทพ” แค่ไหนก็แล้วแต่ และสิ่งที่ควรดูแลก็ไม่ได้มีแค่การ “สับยาง”, “เปลี่ยนยาง” ตามอายุการใช้งานเท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แต่หลายคนกลับ “ละเลย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยเงียบที่เรียกว่าอาการ “ยางบวม”
“ยางบวม” คือ อาการที่เกิดจาก “โครงสร้างภายใน” ของยางผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งตัวโครงสร้างของยางก็จะประกอบไปด้วย ผ้าใบ และเส้นลวดโลหะ ก่อนจะมาถึงด้านนอกสุดที่เราเห็นๆ กัน ก็คือ ตัวเนื้อยาง โดยมีหน้าที่หลักๆ อย่างเช่น การรับน้ำหนัก, การลดแรงกระแทก หรือการสั่นสะเทือน ด้วย “ลมยาง” ที่อยู่ด้านใน
ฉะนั้นคงเดาได้ไม่ยากว่า หากเกิดการเสียหายของโครงสร้างภายในแล้ว จนต้านทานแรงดันลมยางไม่ไหว อะไรจะเกิดขึ้น … ใช่ครับ “ยางบวม” แต่ก็ใช่ว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะค่ายผู้ผลิตยางรถยนต์เค้าไม่ได้สร้างมาให้บอบบางขนาดนั้น หากแต่อาการนี้จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อมีสาเหตุหลักๆ อย่างเช่น ขับรถ “ตกหลุม” อย่างรุนแรง หรือ “เกิดการกระแทกผิดเหลี่ยม ผิดมุม” จากจุดที่เค้าออกแบบมาให้รับแรง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบริเวณแก้มยาง
นอกจากนี้ก็จะมีสาเหตุบางอย่างที่มีความเสี่ยงในการเกิด “ยางบวม” ขึ้นจากความเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน รวมไปถึงการเติมลมที่ “มากไป” หรือ “น้อยไป” ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราแนะนำให้ตรวจสอบ ตรวจเช็คทุกครั้งถ้าทำได้ หากเกิดการตกหลุม หรือเกิดการกระแทกอย่างรุนแรง เพราะนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการบวมของยางได้ง่ายที่สุด
และประเด็นสำคัญก็คือ หากพบเจออาการ “ยางบวม” เกิดขึ้นกับรถของคุณล่ะก็ อย่าได้รอช้าคับ ถ้าทำได้ให้รีบ “เปลี่ยน” ทันที เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ยางที่โครงสร้างภายในเสียหาย จะรับมือกับการกดทับโดยน้ำหนักของรถยนต์ และความร้อนทั้งจากสภาพอากาศ ตลอดจนความร้อนสะสมภายในตัวยางที่เกิดจากการหมุน ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงั้นถ้าไม่อยากไปถึงปลายทางของการ “ฝืน” ใช้ยางบวมๆ ที่เรียกว่า “ยางระเบิด” ล่ะก็ … “เปลี่ยน” เถอะครับ