ความเข้าใจผิดๆ ของการ “ยกที่ปัดน้ำฝน”
เมื่อพูดถึง “ที่ปัดน้ำฝน” ในรถยนต์ เราคงไม่ขอไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรมากเรื่อง “หน้าที่” หรือ “หลักการทำงาน” เพราะเชื่อว่าหลายคนรู้จักดีอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงขอว่ากันตรงๆ ในเรื่องของการ “ดูแลรักษา” ซึ่งเท่าที่ผ่านๆ ตา เรามักจะเห็นความเชื่อผิดๆ อยู่บ่อยครั้ง
และความเชื่อผิดๆ ที่ว่าก็คือการ “ยกที่ปัดน้ำฝน” ซึ่งหลายๆ คนคิดว่ามันเป็นการถนอม “ยางใบปัดน้ำฝน” ให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ด้วยสาเหตุที่ว่าบ้านเราอากาศค่อนข้างร้อน ฉะนั้นการที่ “ยางใบปัดน้ำฝน” ต้องนอนกองอยู่บนกระจกหน้า จะทำให้ “เสื่อม” เร็วขึ้น ด้วยความร้อนที่สะสมอยู่บนกระจก … ซึ่งใช่ครับ คุณคิดถูก
แต่ถ้ามาลองคิดดูให้ลึกอีกนิด อายุการใช้งานของ “ยางใบปัดน้ำฝน” เฉลี่ยแล้วก็ใช้งานกันอยู่ราวๆ 1 ปี อาจจะมากกว่า หรือ น้อยกว่า อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ยังไงซะท้ายที่สุดแล้วการ “เปลี่ยนยางใบปัดน้ำฝน” ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อนมาก และ “ยางใบปัดน้ำฝน” ก็ยังคงได้รับความร้อนหมดสภาพอยู่ดี ต่อให้ “ยก” หรือ “ไม่ยก” ก้านปัดน้ำฝนก็ตาม
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ความเชื่อผิดๆ เรื่องการ “ยกที่ปัดน้ำฝน” ทุกครั้งเวลาจอดรถ ยกพร่ำเพื่อ ยกทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ยังส่งผลให้คุณ “เสียเงิน” เพิ่มง่ายๆ อีกด้วย เพราะการกระทำดังกล่าว คือ การสร้างภาระให้ตัว “สปริง” ซึ่งทำหน้าที่ “กดตัวด้านในแนบแน่นกับกระจก เกิดการยืดตัว และล้า จนทำให้ไม่มีแรงมากพอ ที่จะสร้างแรงกด
จากนั้นก็จะตามมาด้วยอาการ “ปัดน้ำฝนไม่เกลี้ยง” อย่างที่มันควรจะเป็น และถ้าเกิดอาการนี้เมื่อไหร่ล่ะก็ “ทำใจ” ได้เลยครับ เพราะงานนี้ต้องเปลี่ยนกันแบบยกชุดในราคาหลักพันบาท แทนที่จะจ่ายเบาๆ เฉพาะค่ายางใบปัดเพียงแค่หลักร้อย หรือถ้าจะซวยกว่านั้นก็ “สปริงล้า” จนรั้งก้านไม่ไหว ปล่อยร่วงลงมาฟาดกระจก ไม่ต้องถึง “แตก” หรอกครับ เอาแค่ “ร้าว” ก็มากพอที่จะทำเอาน้ำตาไหล ตอนง่ายเงินซ่อมเลยทีเดียว … ฉะนั้นเมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ลองเปลี่ยนความคิดดูเถอะครับ “ยก” กับ “ไม่ยก” อะไรคุ้มกว่ากัน