5 สิ่งที่ต้องคำนึงอาจโดนมั่วนิ่มเปลี่ยนอะไหล่ ตอนนำรถยนต์เข้าศูนย์
มือใหม่หลายท่านที่นำรถยนต์เข้าศูนย์ ช่วง 1 หมื่นกม.แรก ส่วนใหญ่อะไรๆ ก็ยังดีอยู่ ขับรถเข้าไปปุ๊ป แจ้งเช็กรถตามระยะ ก็จะมีรายการตามระยะแจ้งกลับมา รวมถึงค่าใช้ที่มักจะไม่ต้องควักเยอะ โดยมากจะเสียแค่ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ค่าแรงก็อาจจะฟรี อีกอย่างด้วยความที่รถยังใหม่ ชิ้นส่วนต่างๆ ยังสึกหรอไม่มาก ผู้ใช้รถจึงยังคงไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะไม่ต้องเสียทรัพย์เยอะ
แต่พอไมล์รถเราเริ่มแตะหลักหมื่นกม.นี่สิ การสึกหรอย่อมมีมากขึ้นตามระยะทางการใช้งาน รวมถึงความหนักหน่วงของการใช้งานของแต่ละบุคคลด้วย แล้วที่นี้พอนำรถเข้าศูนย์เพื่อทำการตรวจเช็กตามระยะ ซึ่งปกติอาจจะมีแค่เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง กรองอากาศบ้าง ตรงนี้ยังจัดเป็นเรื่องปกติที่พบได้
แต่บางครั้งมันก็อาจมีรายการที่งอกเงยขึ้นมาจากรายการตามระยะ อันเนื่องมาจากการสึกหรอจากการใช้งานจริง และยังมีสิ่งที่อาจถูกแจ้งว่า “หมดแล้วครับต้องเปลี่ยน” “ใช้การไม่ได้แล้วครับต้องเปลี่ยน” “เหลือใช้อีกไม่นานครับต้องเปลี่ยน” คำพูดต่างๆ เหล่านี้หลายคนคงประสบพบเจอกันมาบ้างแล้ว ซึ่งถ้าขาดพื้นฐานความเข้าใจเรื่องรถยนต์ อาจติดกับดักตรงนี้ได้
สิ่งที่ถูกแจ้งให้เปลี่ยนทั้งที่ยังใช้งานได้ดีอยู่
1. ผ้าเบรก : เรียกว่าเป็นอะไหล่ยอดฮิตติดอันดับ ที่จะถูกแจ้งให้เปลี่ยน ทั้งที่ยังอาจจะเหลือให้ใช้งานอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะผ้าเบรกเป็นชิ้นส่วนที่คนใช้รถมักไม่ได้จำหรอกว่าล่าสุดเปลี่ยนเมื่อไหร่ น้อยคนนักมักจะก้มลงส่องจริงๆ หากถูกแจ้งซ่อม
2. จานเบรก : นี่ก็ยอดนิยมไม่แพ้กัน ถ้าหากเบรกแล้วมีเสียง มันจะตกเป็นจำเลยว่า ต้องเจียรจานเบรกนะ เสียงถึงหาย หรือถ้ารถอายุเยอะหน่อย อาจถึงขั้นแจ้งเปลี่ยนจานเบรก เพราะจะมีคำพูดว่า จานบางมากแล้วเจียรไม่ได้แล้วครับ
3. ลูกปืนล้อ : เป็นอีกชิ้นที่มักเป็นตกเป็นจำเลย หากมีเสียงบริเวณล้อขณะขับรถ ซึ่งลูกปืนล้อมันมีความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้พอๆ กัน ค่าตัวก็ใช่ว่าถูก ยังไงก็ถ้ามั่นใจว่าเป็นจำเลยจริงๆ ให้ช่างยืนยันเป็นมั่นเหมาะก็ดี ก่อนยืนยันที่จะเปลี่ยน
4. ยาง : จำเลยอีกตัวที่อาจถูกสงสัยไม่ต่างจากลูกปืนล้อ ราคาค่าตัวใช่ว่าน้อยเสียที่ไหน เปลี่ยนเส้นเดียวก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่จะถูกตั้งข้อหาว่า “บวม – สึกไม่เท่ากัน” ถ้าพอมีพื้นฐานควรตรวจสอบให้ดีว่าใช่หรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าใช่ ก็อาจนำไปเปลี่ยนนอกศูนย์ได้ ยังไงลองเช็กราคายางเปรียบเทียบดูก่อน
5. น้ำยาล้างหัวฉีด : ราคาอาจจะหลักร้อยไม่เกินพัน แต่มันจำเป็นแล้วเหรอ เพราะในน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีสารชะล้างอยู่แล้ว พูดง่ายๆ ว่าเหมือนขับรถเข้าปั๊มแล้วถูกขายพวกสารที่เป็นหัวเชื้อพ่วงไปด้วยแหละ ถ้าไม่คิดอะไรมากก็แล้วแต่
สิ่งที่บอกเล่าเป็นเพียงประสบการณ์จากหลายคนที่พบเจอมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งไม่ได้บอกว่าทุกศูนย์ต้องทำแบบนี้ หลายที่มีมาตรฐานและความจริงใจ แค่จะบอกว่า คนที่เจอมานั้นเค้าแจ๊กพ็อตจริงๆ