BMW – Carbon Fiber : The High-Tech Material
“คาร์บอนไฟเบอร์” (Carbon Fiber) นับเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “วัสดุชั้นนำ” ของโลกแห่งยนตรกรรมทั้งปัจจุบัน และในอนาคต ด้วยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวอันโดดเด่น เช่น ความแข็ง, ความเหนียว, น้ำหนักที่เบา และการสร้างรูปทรงได้อย่างไม่จำกัด … ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราจะมาทำการขยายความ และอธิบายให้ฟังอย่างชัดเจนว่า “คาร์บอนไฟเบอร์” คืออะไร, มีการผลิตอย่างไร ตลอดจนข้อดีของวัสดุสุดล้ำชนิดมีอะไรบ้าง
จุดเริ่มต้นของ “คาร์บอนไฟเบอร์” นั้นมาจาก “เส้นใยคาร์บอน” ขนาดเล็กมากที่เราเรียกย่อๆ ว่า PAN มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 10 เท่า และต้องใช้โครงสร้างเส้นใยคาร์บอนประมาณ 50,000 เส้นรวมกันเพื่อสร้างเป็นมัดไฟเบอร์ที่เรียกว่า Rovings
จากนั้นจึงจะทำการนำ Rovings ไปเผาที่ความร้อนราว 3,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้เส้นใยคาร์บอนเปลี่ยนจากสีขาว กลายเป็นสีดำ ก่อนจะนำมาทอเป็นผืนที่มีลักษณะคล้าย “ผืนผ้า” ตามด้วยการเคลือบทับอีกครั้งโดยใช้สารโพลิเมอร์ เพื่อให้ตัวผ้าคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถคงรูปอยู่ได้
ฉะนั้นเราจึงเรียก “คาร์บอนไฟเบอร์” ประเภทนี้ว่า CFRP (Carbon Fiber Reinforced Polymer) ที่แต่ละขั้นตอนในการผลิตนั้นต้องใช้ความชำนาญ และความระมัดระวังอย่างมาก เพราะหากเกิดฟองอากาศขึ้นตัว “คาร์บอนไฟเบอร์” ก็จะไม่มีความแข็งแรง จนอาจทำให้แตกหรือหักได้เลยทีเดียว
และนั่นทำให้ BMW ที่แม้จะมีโรงงานผลิตวัสดุ CFRP ขนาดใหญ่ อยู่ในเมืองไลพ์ซิก และแลนด์ชัต ประเทศเยอรมนี ก็ตาม แต่การผลิตชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์ ก็ถือเป็นงานแฮนด์เมดที่ยังต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ และเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ที่อาจหมายถึงทั้งวันในการผลิตส่วนประกอบเดียว
โดยความแข็งแรงของคาร์บอนไฟเบอร์ ขึ้นอยู่กับการวางแนวของเส้นใยในทิศทางต่างๆ เป็นจำนวนหลายชั้น เพื่อให้สามารถรับแรงดึงจากหลายทิศทาง ขณะเดียวกันก็ได้สร้างสิ่งที่กลายเป็นจุดเด่นไปพร้อมๆ กัน จากลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่นำผืนคาร์บอนไฟเบอร์ไปขึ้นรูป ด้วยการนำไปวางลงในแม่พิมพ์ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการอบ ภายใต้ความร้อน และแรงดันสูง ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะเคลือบด้วยแลคเกอร์ใส เพื่อความสวยงาม
อีกทั้งยังมาพร้อมกับคุณสมบัติที่เบากว่าอลูมิเนียมราว 20 – 30% และมีความแข็งแรงมากกว่าเหล็กถึง 5 เท่าที่น้ำหนักเท่ากัน คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถพบวัสดุ CFRP ได้ในชิ้นส่วนต่างๆ ของ BMW M Performance หรือส่วนประกอบของตัวถังสำหรับ BMW 7 Series, BMW i8 และ BMW i3
ไม่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงยนตรกรรมสมรรถนะสูงในรหัส M เช่นกัน อาทิ BMW M3 ซึ่งมากับชุดหลังคาที่ผลิตขึ้นจากคาร์บอนไฟเบอร์ และมีน้ำหนักรวมไปเพียง 3.9 กิโลกรัม เพราะงั้นหลักสมการง่ายๆ ก็คือ เมื่อน้ำหนักเบากว่า รถยนต์ก็ย่อมใช้พลังงานน้อยกว่า ขณะที่ไอเสียก็ทำการปล่อยน้อยลง จนท้ายที่สุดรถคันนั้นจะแล่นได้เร็วขึ้นได้เองโดยปริยายนั่นเอง