BMW กับเส้นใยรีไซเคิล … เพราะ “ใส่ใจ” เพื่อให้เกิดความ “ยั่งยืน”
จาก “กระแสเวลา” แห่ง “อดีต” ที่ไหลผ่านอย่าง “เชื่องช้า” เพื่อให้เราได้ดื่มด่ำกับยุคสมัยที่ “ธรรมชาติ” ยังคงยิ่งใหญ่ และไร้การปรุงแต่ง … กระทั่งมาสู่ “ปัจจุบัน” ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวการพัฒนา เพื่อให้ “เทคโนโลยี” ได้เข้ามาเติมเต็ม และเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต จนทำให้ “เกือบ” หลงลืมสิ่งสำคัญอย่าง “สิ่งแวดล้อม” ทั้งทางกายภาพ และชีวภาพ อยู่ซึ่งเคียงข้างวิถีแห่งการดำรงอยู่ของ “ชีวิต” โดยตลอด
ปัจจุบันแวดวงอุตสาหกรรม หันมาให้ความใส่ใจในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการ “ใส่ใจ” ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งราว 5 ปีมาแล้ว BMW คือ แบรนด์หรูลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับ Prada และ Gucci ซึ่งก้าวไปสู่อีกขั้นของวิวัฒนาการด้วยความกล้า ที่จะนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการผลิต
โดยแบรนด์ BMW ได้จับมือกับ Aquafil บริษัทผู้ผลิตเส้นใยระดับโลกเจ้าของลิขสิทธิ์ ECONYL® เพื่อนำวัสดุชนิดนี้มาแปรสภาพให้กลายเป็นพรมพื้น และพื้นผิว สำหรับ BMW i3 ทั้งยังทำการพัฒนาต่อเนื่องมาถึงรถรุ่นอื่นๆ รวมถึง BMW iX ที่เพิ่งเปิดตัวหมาดๆ ไปในเดือนมิถุนายนนี้
“เส้นใยรีไซเคิล” ชนิดนี้มีส่วนช่วยลดภาระ และสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการนำเอา “ขยะพลาสติกในทะเล” ไม่ว่าจะเป็น อวนจับปลาเก่า ตลอดจนเศษไนลอนอื่นๆ รวบรวมนำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ ส่งไปตามสายพานลำเลียง ที่ต้องผ่านความร้อนในถังขนาดใหญ่ ก่อนจะกลายเป็นเม็ดพลาสติกสีขาว เพื่อนำเข้าเครื่องสปินเนอร์ปั่นเกลียวให้กลายเป็น “เส้นใยรีไซเคิล” คุณภาพสูง พร้อมด้วยสีสันที่มีให้เลือกหลากหลาย ภายใต้กระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่าการผลิตไนลอนด้วยกรรมวิธีปกติถึง 90%
อีกทั้งยังสามารถทำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากสิ้นอายุการใช้งาน สอดรับกับเป้าหมายของแบรนด์ BMW ที่ตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 200 ล้านตัน ภายในปี 2030 … เพราะฉะนั้น “เส้นใยรีไซเคิล” จึงเป็นวัสดุที่ดูเหมาะสม และลงตัว ในการเป็นส่วนประกอบของ BMW iX ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
ที่สำคัญก็คือ สิ่งนี้เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนเพื่อสื่อสารถึง “ความยั่งยืนที่ฝังรากลึกอยู่ใน DNA ของแบรนด์” ในฐานะ “คำตอบ” หากใคร หรืออะไรก็ตามเกิด “คำถาม” ขึ้นว่า “ทำไม BMW ถึงลงทุนในกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อนเหล่านี้”