Crash Test ทำกันอย่างไร
ปัญหา อุบัติเหตุ บนท้องถนน คือ ความท้าทายหนึ่ง ที่ผู้ผลิตรถยนต์ จะต้องสร้างรถ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานการชน หรือ Crash Test ของข้อกำหนดนี้ไปให้ได้ โดย ข้อกำหนด หรือมาตรฐานด้านการชน จะมีสถาบัน หรือหน่วยงานที่เป็นอิสระจากบริษัทรถยนต์ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานนี้ขึ้นมา
ในหลายประเทศมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ที่ให้รถยนต์ที่จะวางจำหน่าย ต้องผ่ายการทดสอบการชน และเผยแพร่ข้อมูล รายงานผลอันนี้ สู่สาธารณชนอย่างเป็นกลาง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภค ในการประกอบการตัดสินใจที่จะซื้อรถใหม่ด้วย
สถาบันหรือหน่วยงานที่ทำการทดสอบ และประเมินผล มีอยู่ด้วยกันหลายสถาบัน ที่เราคุ้นชื่อก็จะมี European New Car Assessment Program (Euro NCAP) จากกลุ่มสหภาพยุโรป หรือจะเป็น National Organization for Automotive Safety & Victim’s Aid (Japan NCAP) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังมีอีกหลายสถาบันเช่น จากออสเตรเลีย และจากอเมริกา ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ
รูปแบบหลักๆ เวลาทดสอบ Crash Test
1. ทดสอบการชนด้านหน้า – Front Impact Test เป็นการทดสอบการชนด้านหน้า โดยให้รถทดสอบ วิ่งเข้าปะทะสิ่งกีดขวาง ตามความเร็วที่กำหนด ซึ่งจุดปะทะนั้น จะเยื้องกับผนังกั้นประมาณ 40% ของความกว้างที่สุดของตัวรถ ไม่นับรวมระยะของกระจกมองข้าง
2. ทดสอบการชนด้านข้าง – Side Impact Test เป็นทดสอบการถูกชนจากทางด้านข้าง โดยใช้การลากสิ่งกีดขวาง ให้วิ่งเข้าปะทะกับรถทดสอบ ตามความเร็วที่กำหนด ในตำแหน่งของประตูฝั่งคนขับ
3. การทดสอบการชนด้านข้างกับเสา – เป็นการทดสอบเข้ากับสิ่งกีดขวางด้านข้างเฉพาะจุด โดยวิธีนี้จะนำรถทดสอบวางไว้บนฐานที่เคลื่อนที่ได้ แล้วลากฐานนี้พุ่งเข้าไปชนกับ เสาที่มีหัวกลม ซึ่งวางอยู่นิ่งๆ เพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากนั้นจะทำการการ พิจารณา ความเสียหายของตัวถังรถ ทั้งในส่วนของการยุบตัวของตัวถัง ความเสียหายในจุดที่สำคัญเช่น ระบบเชื้อเพลิง ความยาก-ง่ายในการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในรถ ตลอดจนแรงปะทะที่กระทำกับหุ่นทดสอบ เพื่อสรุปเป็นคะแนน ประเมินความปลอดภัยของรถทดสอบคันนั้นๆ