Ferrari 812 Competizione … ความพิเศษแบบ Limited-Edition Special Series
ค่ายม้าลำพองส่งมอบความพิเศษแบบ Limited-Edition Special Series ให้เหล่าสาวก ด้วยการเปิดตัว Ferrari 812 Competizione ตัวโหดที่อัพเกรดมาจากรุ่น 812 Superfast ที่มีให้เลือกเป็นเจ้าของถึง 2 รุ่นตัวถัง คือ 812 Competizione มาตรฐาน และ 812 Competizione A ที่โดดเด่นด้วยการเปิดหลังคาสไตล์ Targa
โดยทั้ง 2 รุ่นมากับการอัพเกรดกับคุณสมบัติด้านอากาศพลศาสตร์ เช่น ช่องดักอากาศด้านหน้าแบบ Single Front Air Intake ซึ่งออกแบบให้มีพื้นที่เอื้ออำนวยในสามารถติดตั้งหม้อน้ำขนาดใหญ่ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพโดยรวมให้ดีขึ้น มาพร้อมกับครีบแบบ “Aero” ทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งหยิบยืมดีไซน์มาจาก SF90 Stradale รับกับ Splitter ใต้กันชนหน้าที่ช่วยสร้างแรงกด Downforce เพิ่มขึ้นได้อีกราว 30% เสริมด้วยการติดตั้ง Front Diffuser ปรับได้แบบ Passive Mobile Aero ที่พร้อมทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 250 กม./ชม.
ขณะที่บนฝากระโปรงมากับ “ช่องครีบ” (Blade) พร้อมด้วยช่องระบายอากาศด้านหลังล้อหน้า รับกับการติดตั้งชุดสเกิร์ตทรง S-Shaped สำหรับทำหน้าที่ระบายความร้อน และจัดเรียงกระแสลม ภายใต้การจัดทิศทางให้ถูกต้องโดยไม่รบกวนการขับขี่ แม้จะเป็นตัวถังเปิดประทุนรุ่น Competizione A
ด้านหลังมากับชุดกันชนท้าย และ Diffuser ขนาดใหญ่ทรงปิดทึบ พร้อมครีบรีดอากาศ 3 คู่ ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับ Production Car เพื่อการจัดเรียงกระแสการไหลของอากาศที่มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างแรงกด Downforce มากขึืนถึง 10% เมื่อเทียบกับ 812 Superfast เช่นเดียวกับความสะดุดตาทางวิศวกรรมการออกแบบ เพื่อนำเสนอความแตกต่าง เช่น ชุดสปอยเลอร์หลังที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวรถในรูปทรง Ducktail รับกับจนชุดท่อไอเสียทรงเหลี่ยม ซึ่งมาพร้อมการพัฒนา และออกแบบจากเทคโนโลยีของรถแข่ง Formula 1
เวอร์ชั่นเปิดหลังคาอย่าง 812 Competizione A โดดเด่นด้วยชิ้นงานที่มีลักษณะคล้าย “สะพาน” เพื่อทำหน้าที่เป็นสปอยเลอร์หลัง เสริมด้วยการติดตั้งแผ่นกั้นอากาศด้านบนของกระจกบังลมหน้า เพื่อช่วยเบี่ยงเบนทิศทางลมป้องกันการม้วนกลับเข้าสู่ห้องโดยสาร ไปจนถึงป้องกันการเกิดแรงดันด้านหลังศีรษะ โดยการเจาะช่องระบาย เพื่อให้อากาศไหลผ่านไปตามทิศทางที่กำหนด แม้ขณะขับขี่แบบเปิดหลังคา
ส่วนจุดที่เป็นไฮไลต์ต้องยกให้เรื่อง “สมรรถนะ” อันดุดัน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจาก เครื่องยนต์เบนซินขนาด 6.5 ลิตร แบบ V12 ไร้ระบบอัดอากาศ ที่อัพเกรดมาจาก 812 Superfast ตั้งแต่ “ฝาสูบ” ที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด “ก้านสูบ” เปลี่ยนไปใช้วัสดุไททาเนียม ขณะที่ “สลักลูกสูบ”, “แคมชาร์ฟ” ถูกเคลือบด้วยสาร DLC (Diamond-Like Carbon) อีกทั้งยังมี “กระเดื่องกดวาล์ว” ที่พัฒนามาจากรถแข่ง Ferrari F1 ให้มี “ระยะยก” สูงกว่าปกติ เพื่อนำมาใช้กับเครื่องยนต์บล็อกนี้โดยเฉพาะ รวมไปถึง “เพลาข้อเหวี่ยง” ที่นำมาปรับสมดุลใหม่ และใช้วัสดุที่เบาลงจากเดิม 3%
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงในเรื่องของ “ระบบไอดี” ใหม่ ให้เหมาะสมกับพละกำลังที่เพิ่มขึ้นอีกราว 30 แรงม้า ตั้งแต่ ช่องดักอากาศด้านหน้าแบบ Single Front Air Intake ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่เคลมว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนปริมาณอากาศเย็นไปยังท่อไอดี และแผงระบายความร้อนได้มากขึ้น รวมไปถึงมีการปรับขนาดของ “ท่อไอดี” ให้มีขนาดกะทัดรัด และเป็นแบบแปรผัน เพื่อช่วยให้เกิดการตอบสนองที่ดี และมีแรงบิดให้ใช้ในทุกย่านความเร็วรอบเครื่องยนต์ รวมไปถึงยกระดับประสิทธิภาพในการลดความร้อนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับ 812 Superfast
ตามมาด้วยการอัพเกรด “อ่างน้ำมันเครื่อง” ใหม่ เพื่อรองรับอัตราการไหลเวียนที่เพิ่มขึ้น 30% แต่กลับลดการใช้น้ำมันเครื่องลงมากกว่า 1 กก. จากการปรับปรุงห้องกั้น และปริมาณการเก็บใหม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ “ปั๊มน้ำมันเครื่อง” ใหม่เป็นแบบแปรผัน เพื่อปรับแรงดันให้มีความต่อเนื่องทุกช่วงการทำงาน กระทั่งการใช้ “น้ำมันเครื่อง” ที่เลือก Shell Helix 5W40 ที่มีความหนืดน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้า
ด้านระบบฉีดจ่ายเชื้อเพลิงแบบ Direct Injection มีการปรับจังหวะ และเพิ่มแรงดันการฉีดจ่ายเชื้อเพลิงใหม่ ภายใต้การควบคุมที่แม่นยำโดยสมองกล ECU ซึ่งมีระบบ Ion-Sensing System เสริมเข้ามาช่วยให้สามารถจุดระเบิดครั้งเดียว หรือหลายครั้ง ไปจนถึงควบคุมการเผาไหม้ เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานด้วยประสิทธิภาพทางสูงสุดตลอดจนการขับขี่
ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเรี่ยวแรงที่จัดมาให้ในระดับ 830 แรงม้า พร้อมแรงบิดสูงสุด 692 นิวตันเมตร และรอบเครื่องยนต์ที่กวาดสูงได้ถึง 9,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังผ่านชุดเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด คลัทช์คู่ (F1 DCT) ที่ปรับปรุงใหม่ให้เร้าใจมากขึ้นในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำที่ทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม 5% และรอบเครื่องยนต์ที่ลากเพิ่มได้มากขึ้น 500 รอบต่อนาที
และทั้ง 2 รุ่น ก็ยังมาพร้อมกับการติดตั้งเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับการขับเคลื่อน เช่น ระบบเลี้ยว 4 ล้อ (Independent Four-Wheel Steering) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก ด้วยความโดดเด่นที่สามารถควบคุมองศาการเลี้ยวแต่ละล้อแบบแยกอิสระตามความเหมาะสม, ระบบ SSC (Side Slip Control) เวอร์ชั่น 7.0 ที่มากับตัวช่วยต่างๆ
เช่น ระบบ Electronic Differential ในการใช้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมเฟืองท้าย (E-Diff 3.0), ระบบ Traction Control (F1-Trac) ควบคุมการยึดเกาะถนน, ระบบควบคุมช่วงล่าง (SCM-Frs), ระบบควบคุมแรงดันเบรกขณะขับขี่ด้วยขีดจำกัดสูงสุด (FDE) ในโหมด Race ตลอดจนระบบ (CT-Off) และ Virtual Short Wheelbase 3.0 ที่รวมเอาระบบบังคับเลี้ยวด้วยไฟฟ้า และระบบควบคุมการเลี้ยวอิสระของล้อหลังเข้าไว้ด้วยกัน
แถมด้วยล้อขนาด 20 นิ้ว ที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ก็ผลิตขึ้นจากคาร์บอนไฟเบอร์เป็นครั้งแรกสำหรับ Ferrari V12 เพื่อทำการลดน้ำหนัก พร้อมกับเคลือบสารที่ใช้สำหรับงานวิศวกรรมอากาศยาน และยานอวกาศ เพื่อช่วยในการสะท้อน และกระจายความร้อน ก่อนส่งไม้ปิดท้ายให้กับยางสมรรถนะสูงที่ออกแบบ และพัฒนามาเป็นพิเศษอย่าง Michelin Cup2R ในการทำหน้าที่ลำเลียง “สมรรถนะ” ลงสู่ถนนอย่างสมบูรณ์แบบ