Highways Number หรือ หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน ตัวช่วยชั้นดีเมื่อ “ระบบนำทาง” หรือ “GPS” ลาป่วย
อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้มีความสะดวกสบายอยู่รายล้อมรอบตัวเราเต็มไปหมด ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องถนนหนทางล่ะก็ บอกได้เลยว่า “แทบจะไม่ต้องจำ” เพราะแค่เปิด ระบบนำทาง หรือ GPS จุดหมายปลายทางก็จะปรากฏบนหน้าจอในพริบตา โดยไม่ว่าจะไปทางลัด หรือทางอ้อม แต่ก็มั่นใจได้ว่ามันพาไปถูกแน่นอน … แต่คำถามคือ “ถ้ามันมีปัญหา” ล่ะ … ฉะนั้นเราเลยจะมาแนะนำสิ่งที่หลายคนหลงลืมกันไป นั่นก็คือ Highways Number หรือ หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน ตัวช่วยชั้นดีเมื่อ “ระบบนำทาง” หรือ “GPS” ลาป่วย
“ระบบนำทาง” หรือ “GPS” เมืองใหญ่ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้ากลางป่าเขาล่ะ
ใช่ครับตามหัวข้อ เพราะโดยปกติในเมือง “หลง” ยังไงก็ไม่สิ้นไร้ ขนาดไม่เหลือตัวช่วย ผู้คนเยอะแยะจะกลัวอะไร ต่อให้หลงตึก หลงทางยังไงก็มีคนให้ถาม แถมในเมืองใหญ่ๆ เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ก็ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ถึงต่อให้ระบบในรถมีปัญหา โทรศัพท์มือถือก็ยังพร้อมจะพาคุณไปยังจุดหมายที่ต้องการได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล
แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดล่ะ มีใครเคยคิดบ้างมั้ยครับ ที่พูดขึ้นมาเนื่ยก็เพราะว่าบางพื้นที่ ถนนบางเส้นสัญญาณต่างๆ เข้าไม่ถึง ทำให้การนำทางค่อนข้างเป็นเรื่องยากลำบาก แถมเกิดเคราห์ซ้ำกรรมซัดสัญญาณโทรศัพท์ก็แห้งเหี่ยวขึ้นมาอีก ในขณะที่คุณ “หลง” อยู่ คำถามคือ “จะทำยังไง
คำถามนี้ถ้าเป็น “นักขับมือเก๋า” คงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะหลายคนขับขี่รถกันมาตั้งแต่ในยุคที่ต้องใช้ “ทักษะ” และ “ความจำ” ของตัวเองมากกว่าเทคโนโลยี แต่ที่น่าห่วงก็คือ “นักขับ” ยุคดิจิตอลที่มากับรถบรรทุกสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีล้ำสมัย แถม “ไม่เคย” หยิบคู่มือการใช้รถขึ้นมาอ่านเลยต่างหาก ฉะนั้นผมเลยหยิบเอาเรื่อง “หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน” มาเล่าให้ฟัง เผื่อจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย
Highways Number หรือ หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน เจอแต่ไม่รู้คืออะไร ?
ถ้าไม่เอาแต่มอง หรือ ฟัง เทคโนโลยีคอยบอกทาง หลายๆ คนเคยสังเกตกันมั้ยครับว่ามันจะมี “ตัวเลข” มากมายตลอดทางเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนนทุกครั้ง และถ้าไม่นับตัวเลขจำกัดความเร็วล่ะก็ มันยังมีตัวเลขที่สำคัญบนท้องถนนที่ต้องสังเกตด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือ หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน นั่นเอง
โดยหน้าที่ของ หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน ก็คือ “บอก” ให้เรารู้ว่า เราอยู่บนถนนเส้นไหน มาจากไหน และจะไปไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่ 1 หลัก ไปจนถึง 4 หลัก พร้อมตัวหนังสือกำกับอยู่ด้านหน้า เพื่อบอกว่าเป็น “ถนนประเภทไหน” แตกต่างกันไปตามแต่ละเส้นทาง ซึ่งผู้ใช้รถ ใช้ถนน ควรจะเข้าใจเช่นกัน เผื่อเวลาที่ระบบนำทางใช้งานไม่ได้
เทคนิคง่ายๆ จำไว้แค่ “ตัวเลข” ก็พอ
อย่างที่บอกไปครับว่า หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน แต่ละสายจะมีตัวหนังสือกำกับอยู่ด้านหน้า พร้อมตัวเลข … แต่ไม่ต้องซีเรียสไปครับ เอาแบบจำง่ายๆ แค่ตัวเลขก็พอ ฉะนั้นมาดูกันว่าเลขแต่ละหลักจะบอกอะไรเราได้บ้าง
เริ่มจากถนนสายหลัก คือ ถนนเส้นที่มีหมายเลขทางหลวงแผ่นดินเพียง 1 ตัว คือ ทางหลวงสายประธานที่เราใช้เดินทางไปยังภูมิภาคหลักๆ ของประเทศไทย ยกตัวอย่างเส้นที่เราใช้กันบ่อยๆ ก็ สายเหนือจากกรุงเทพฯ ยันแม่สาย คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 แต่ถ้าไปอีสานก็ต้อง ถนนมิตรภาพ หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ที่เริ่มจากสระบุรี ไปสุดที่หนองคาย หรือจะลงใต้ยาวๆ ไปถึง สงขลา ก็คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม นั่นเอง
ต่อมา คือ ถนนเส้นที่มีตัวเลขทางหลวง 2 หลัก จะเป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองที่เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 1 หลัก เพื่อไปสู่พื้นที่สำคัญของแต่ละจังหวัด โดยเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศได้ เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-บางปะกง) หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย)
สำหรับทางหลวงที่มีตัวเลข 3 หลัก อันนี้เป็น ทางหลวงแผ่นดินสายภูมิภาค ซึ่งจะเชื่อมต่อมาจากทางหลวงหมายเลข 1 หลัก หรือ 2 หลัก อีกที โดยเชื่อมระหว่างตัวจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคนั้น เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 307 (ถนนกรุงเทพ-ปทุมธานี), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331( ฉะเชิงเทรา- สัตหีบ) หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 345 (บางบัวทอง – บางพูน)
สุดท้าย คือ ทางหลวงแผ่นดินที่มีหมายเลขกำกับ 4 หลัก ซึ่งจะหมายถึง ทางหลวงแผ่นดินที่ไม่ได้มีถนนเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะทางยาว แต่จะเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด กับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญ หรือแค่ระหว่างอำเภอกับอำเภอเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนคงพอนึกออกแล้วใช่มั้ยครับ ว่าถ้าหาก “หลง” แบบไร้ตัวช่วยใดๆ ล่ะก็ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ สังเกต หมายเลขทางหลวงแผ่นดิน เป็นหลัก และพยายามวิ่งไปบนถนนที่มีตัวเลขน้อยหลักไว้ก่อน แล้วค่อยๆ ไล่ไปจนเจอ ถนนที่มีหมายเลขทางหลวงแผ่นดิน 1 หลัก เท่านี้เป็นอันจบพิธี