กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีกล้องจับความเร็วกี่ตัว
ก่อนจะเขียนบทความนี้ คิดอยู่พอสมควรเหมือนกัน ว่าจะมีความ ล่อแหลม มากน้อยขนาดไหน แต่ก็เอาล่ะ ในเมื่อได้รับคำสั่งมาให้ลองถ่ายทอดเป็นวิทยาทานสักหน่อย ซึ่งเชื่อได้ว่า ใครที่ขับรถ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่เป็นประจำคงคุ้นชินกันแล้วที่จะมีจดหมายจากสถานีตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบร่อนไปถึงที่บ้าน ไปดูกันว่ากว่า 700 กม.จะมีกล้องจับความเร็วอยู่ประมาณเท่าไหร่
บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ และการจดสถิติ จากการเดินทางจริง สังเกตจริง และโดนจับจริง ซึ่งจะขออธิบายภาพรวมโดยเริ่มตั้งแต่ถนนสายเอเซีย (หมายเลข32) ตั้งแต่กม.ที่ 1 เป็นต้นไป
แน่นอนว่าถนนเส้นนี้เป็นซูเปอร์ไฮเวย์วิ่งผ่านเมือง และจังหวัดต่างๆ ฝั่งนึงมีไม่ต่ำกว่า 4 เลน ความเร็วที่กำหนดก็คือ ไม่เกิน 120 กม./ชม.แต่ก็มีบางช่วงโดยเฉพาะหลักกิโลเมตรแรกๆ ที่น่าจะไม่เกิน 90 กม./ชม.
ทั้งนี้ทั้งนั้นจะหลายท่านที่ขับรถ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ บ่อยๆ คงทราบดีว่า มีกล้องจับความเร็วอยู่แทบจะทุกๆ กม.ซึ่งมีทั้งกล้องแบบจริงจัง และไม่จริงจัง นับแค่เฉพาะสั้นๆ (กทม.-นครสวรรค์) ก็มีประมาณกว่า 20 ตัวแล้ว จากสถิติที่เราเก็บกันเองนั้นจะเห็นได้ว่า
- ในแต่ละ 10 กม.จะมี กล้อง ที่ติดตั้งไว้ (จับความเร็วด้วยหรือเปล่าไม่รู้ ถือว่านับเหมารวมก่อน) จะมีประมาณ 1-2 ตัว สูงสุดไม่เกิน 3 ตัว โดย กม.ที่ 50-60 จะไม่มีกล้อง
- กล้องที่ติดตั้งนั้น สังเกตง่ายสุดคือ สะพานลอย แต่ก็ใช่ว่าจะมีกล้องที่ติดถาวรเท่านั้น ฤกษ์งามยามดีอาจจะมีคนในเครื่องแบบยิงกล้องชั่วคราวร่วมด้วยก็ได้
- กล้องที่สังเกตยากขึ้นมาหน่อยคือ ติดตั้งบนเสาบาร์ วางอยู่ขอบทางชิดกับไหล่ทางด้านซ้าย
- กล้องที่สังเกตยากมากคือ กล้องจับความเร็ว ตัวเดี่ยวๆ ติดตั้งอยู่ เกาะกลาง จะมองเห็นยากมาก และโดยมากตัวนี้แหละจะเป็นตัวที่จับความเร็วเรา
- หมายเหตุถ้ามีพลฯซุ่มยิง คงต้องแล้วแต่บุณทำกรรมแต่งครับ ลุ้นเอาว่าจะโดนเรียกที่ด่านข้างหน้าหรือเปล่า
- ช่วงนครสวรรค์เป็นต้นไป ประมาณ กม.ที่ 370 – 680 ช่วงนี้จะมีแบบประปราย ประมาณ 10 กม.จะเจอ 1 ตัว ซึ่งจะมีอยู่แค่ช่วง 30 กม.แรก จากนั้นจะเว้นไปซัก 20 กม.บ้าง 30 กม.บ้างถึงจะเจออีก 1 ตัว สังเกตไม่ยาก
อาจจะไม่ถึงกับละเอียดนัก เพราะไม่อยากให้เกิดดราม่า และไม่ได้ต้องการท้าทายกับกฎหมาย แต่น่าจะพอเป็นไกด์ไลน์ให้คร่าวๆ สำหรับนักเดินทาง เพราะบางกล้องที่ไม่ใช่กล้องแบบถาวรก็มี และตอบไม่ได้แน่ชัดว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งผู้รักษากฏหมายเค้าก็ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีกันไป ถ้าไม่อยากเสียค่าปรับ ก็ขอให้ขับด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนด รับรองปลอดภัยอุ่นใจสบายกระเป๋าแน่นอน