“ขับขี่” สบายใจ … “ภาษี ทะเบียน” ต่อไว้อย่าให้ “ขาด”
สำหรับผู้ครอบครองรถยนต์ นอกจากการดูแลรักษา ซ่อมบำรุงแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่หลัก ซึ่งต้องทำเป็นประจำทุกๆ ปีตามกำหนด ก็คือ “การเสียภาษี และต่อทะเบียนรถยนต์” ที่ ณ ปัจจุบันก็มีช่องทางอำนวยความสะดวกให้เลือกได้หลากหลายช่องทางทั้งช่องทาง “ออนไลน์” หรือไปด้วยตัวเองที่ “สำนักงานขนส่ง” รวมไปถึงสามารถต่อล่วงหน้าก่อนทะเบียนหมดอายุได้ถึง 90 วัน ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คงมีแค่ “เตรียมเอกสาร” ไว้ให้พร้อมเท่านั้น
แต่กับบางคน หรืออาจจะหลายคนเลยก็ได้ ที่ขาดการชำระภาษี ต่อทะเบียน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ จำไว้ให้ “แม่น” ว่าชำระ “ล่าช้า” ถือว่ายังพอไหว แต่ยังไงซะก็ “ไม่ควรเกิน 3 ปี” เพราะนับตั้งแต่วันวันแรกที่เริ่มขาดการชำระภาษี ต่อทะเบียน นั่นหมายถึงเจ้าของรถมี “ความผิด” แน่ๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ฉะนั้นมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
เริ่มต้นด้วยเรื่องของ “ค่าปรับ” ที่เกิดขึ้นจากการขาดต่อทะเบียนหลังจากเลยวันกำหนดไปแล้ว แต่ยังไม่เกินกำหนด 3 ปี ที่จะต้องทำการชำระด้วยอัตราร้อยละ 1 ของค่าต่อทะเบียนต่อเดือนจนกระทั่งถึงวันที่ชำระ
เรื่องต่อมาคือ “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้นในกรณีที่นำรถออกมาใช้ เมื่อขาดการต่อทะเบียน ซึ่งถือความผิดทางกฎหมายจราจร โดยหากโดนเจ้าพนักงานจับอัตราการเปรียบเทียบปรับสูงสุดจะอยู่ที่ไม่เกิน 10,000 บาท แถมยังรวมถึงเรื่องความรับผิดชอบจาก พ.ร.บ. ในการครอบคลุมความเสียหายจากอุบัติเหตุเฉพาะกรณีเท่านั้น
เช่น การเกิดอุบัติเหตุโดยไม่มีคู่กรณี พ.ร.บ. จะไม่ทำการคุ้มครองใดๆ แม้ว่าจะเสียชีวิต หรือบาดเจ็บก็ตาม
ส่วนในเหตุการณ์ที่มีคู่กรณี และตัวคุณเองเป็นฝ่ายผิด ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ แต่หลังจากนั้นหน่วยงานก็จะมาทำการเก็บค่ารักษาคืนจากตัวคุณเองที่เป็นฝ่ายผิด พร้อมด้วยค่าปรับความผิดจากการขาดต่อ พ.ร.บ. อีกด้วย
และหากเกิดเหตุการณ์ที่มีคู่กรณี แต่ตัวคุณเองเป็นฝ่ายถูก คุณก็สามารถเรียกร้องความคุ้มครองในฐานะผู้เสียหายได้ตามค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนค่าชดเชยหากเสียชีวิตได้เช่นกัน
สุดท้ายกับการขาดต่อเกิน 3 ปี งานนี้บอกเลยว่า “วุ่นวาย” ไม่น้อย เพราะคุณจะถูก “ระงับ” ทะเบียนไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทางเดียวก็คือต้องทำเรื่องจดทะเบียนใหม่ เพราะไม่สามารถใช้เลขเดิมได้ ทั้งยังต้องนำทะเบียนเก่า พร้อมเล่มทะเบียนไปคืนภายใน 30 วัน เพราะหากเกินก็จะโดนค่าปรับไปอีกราวๆ 1,000 บาท แล้วก็ตามมาด้วยการเสียค่าธรรมเนียมในเรื่องของการจดทะเบียนใหม่แล้ว ไปจนถึงการเสียค่าปรับภาษีย้อนหลังที่เรียกเก็บสูงสุดถึง 3 ปี เลยทีเดียว
ฉะนั้น สำหรับผู้ที่ใช้งานรถยนต์เป็นประจำ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากมาย ก็ไปจัดการต่อทะเบียนรถยนต์ให้เรียบร้อยซะเถอะครับ ส่วน “สายจอด สายปั้น” ที่ความจำเป็นในการใช้รถคันนั้นๆ น้อยมาก และไม่อยากวุ่นวายเรื่องทะเบียนในภายหลัง เราแนะนำว่ายังไงซะก็อย่าประมาทจนขาดต่อเกิน 3 ปี ดูน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า