จริงหรือไม่ “กินแก๊ส” พังไวกว่าใช้ “น้ำมัน”
ถ้ายังจำกันได้ ในยุคสมัยที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีดตัวจน “แพง” กว่า “ข้าวแกง” ข้างถนน คนไทยต่างตระหนกตกใจ และพยายามหาวีธีอะไรก็ตามที่จะได้ความ “ประหยัด” คืนมามากที่สุด และนั่นคือ สิ่งที่ทำให้ “พลังงานทางเลือก” อย่าง “เชื้อเพลิงแก๊ส” กลายเป็นดารายอดนิยมในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน จนฃเจ้าของกิจการอย่าง “ร้านติดตั้งแก๊ส” กลายเป็น “อาเสี่ย” กันในชั่วพริบตา
จากการที่ผู้ใช้รถตาดำๆ ต่างก็เข้าหา เพื่อติดตั้ง “เชื้อเพลิงแก๊ส” กันชุดใหญ่ เพื่อหลีกหนีจากวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ทั้งที่แค่จริงๆ เป็นแค่อาการ “ตกใจ” ของคนไทยเพียงชั่ววูบเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากการ “สะดุ้ง” เรื่อง “ราคา” ในช่วงนั้น จนมาถึงปัจจุบันที่ราคาน้ำมันยังคงผันผวน ด้วยตัวเลขเฉลี่ยที่ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ก็ไม่เห็นมีใครออกมา “โวยวาย” กันอีก
เว้นแต่เรื่องของ “รถ” ที่เริ่มมีเสียงแว่วหนาหู โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สมา ว่า “ค่าใช้จ่ายสูง”, “ต่อคิวเติมก็นาน” รวมไปถึงการ “มีความเสี่ยงต่อชีวิต และทรัพย์สิน” อีกด้วย ซึ่งก็นี่แหละครับปัญหา จนผมเองเชื่อว่าช่วงหลังๆ ที่คนไทยเริ่ม “ชิน” กับราคาน้ำมัน ก็คงมีไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ต้องยอมเสียเงินแม้จะไม่มากเท่าตอนติดตั้ง แต่ก็น่าจะสบายใจกว่าเพื่อแลกกับการ “ถอดระบบแก๊ส” ออกจากรถ
ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาดังที่กล่าวไปข้างต้นเท่านั้น แต่อีกหนึ่งปัญหาที่เจอ โดยเฉพาะคนที่ขาดการดูแลรักษารถย่างสม่ำเสมอก็คือ “อายุการใช้งาน” ที่ “สั้นลง” อย่างคาดไม่ถึงนั่นเอง เนื่องจากอันดับแรก ผู้ใช้ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “เชื้อเพลิงน้ำมัน” และ “เชื้อเพลิงแก๊ส” ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ติดตั้งเพิ่มเติมเข้าไปในตัวรถ (ไม่ใช่แบบที่ติดตั้งมาจากโรงงาน) ที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่าเป็น “การดัดแปลงระบบจ่ายเชื้อเพลิง”
ฉะนั้นการดูแลรักษาเครื่องยนต์ และระบบเชื้อเพลิง คือ ปัจจัยหลักที่ผู้ใช้รถควรทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีอายุการใช้อย่างเหมาะสม และคุ้มค่าที่สุด ซึ่งต้องบอกก่อนเลยว่า อายุการใช้งานที่เหมาะสม เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง เชื้อเพลิงน้ำมัน และเชื้อเพลิงแก๊ส แบบใดที่ทำให้เครื่องยนต์ “โทรม” มากกว่ากัน คำตอบง่ายๆ ตามทฤษฎีโดยตรง ก็คือ “ระบบแก๊ส”
เนื่องจาก “ระบบแก๊ส” เป็นการ “เผาไหม้แบบแห้ง” ไม่มีการใช้น้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้อุปกรณ์อย่างลูกสูบหรือวาล์วเกิดแรงเสียดทานมากขึ้น ประกอบกับค่าออกเทนของน้ำมันเกรดสูงสุดในบ้านเราก็คือ 95 ในขณะที่ “แก๊ส” จะมีค่าออกเทนที่สูงกว่าทำให้ค่าความร้อนระหว่างเชื้อเพลิง 2 ประเภทนั้น เชื้อเพลิงแก๊ส จะให้ค่าความร้อนที่สูงกว่า โดยที่อุปกรณ์ และชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทนความร้อนขององศาที่มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน
เพราะผลการวิจัยรถที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊ส โดยเฉลี่ยจะมีค่าความสึกหรอ จากความร้อนสะสมที่สูงกว่ารถที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันถึง 1.5 เท่าเลยทีเดียว ฉะนั้นอุปกรณ์ และชิ้นส่วน ที่ต้องรับความร้อนโดยตรง ซึ่งผิดจากสเปกดั้งเดิมของเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน จะเกิดการแบกรับภาระที่สูงขึ้น โดยเฉพาะถ้าใช้เชื้อเพลิงแก๊สอย่างต่อเนื่อง สภาวะอุณหภูมิความร้อนสูง จึงอาจมีโอกาสที่ทำให้ระบบเชื้อเพลิงน้ำมันเกิดการบกพร่อง รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ ในตัวเครื่องยนต์ จนอาจทำให้กลับบ้านเก่าได้เร็วกว่าปกติ
ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อการใช้งานอย่างถูกต้อง และหมั่นตรวจเช็ค และตรวจสภาพจากศูนย์ตามระยะเวลากำหนดของระบบแก๊ส ตลอดจนทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยป้องกันความเสียหาย และยืดอายุการใช้งานของรถเชื้อเพลิงแก๊สให้มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย