รีวิวเพิ่มเติม : บอกเล่าหลังอยู่กับ Toyota Hilux Revo Rocco 2.8 Double Cab ใหม่ แบบมีเวลามากขึ้น
คราวที่แล้วได้ รีวิว บางส่วนคร่าวๆ จากการที่ได้สัมผัส ขับทดสอบครั้งแรกกับเจ้า Toyota Hilux Revo Rocco 2.8 Double Cab 4×4 เนื่องจากมีเวลาไม่มากนัก ในการทำความรู้จักเพื่อสร้างความคุ้นเคย แต่ครั้งนี้เรามีเวลามากขึ้น จึงอยากบอกเล่าเพิ่มเติม เพื่อให้สาวกรีโว่ ได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงของ รีโว่ ร็อคโค่ ใหม่นี้
เรายังอยู่กับรุ่นท้อปของ Toyota Hilux Revo Rocco 2.8 Double Cab 4×4 อีกคำรบนึง เพราะนี่คือ ตัวท้อปสุดแล้ว และเป็นเครื่อง 2.8 ลิตรที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ แต่ถ้าเล็งไปเพียงแค่รุ่นเครื่อง 2.4 ลิตร ก็จะได้เครื่องเดิม ซึ่งตอนนี้รุ่นย่อยที่แปะท้าย ถูกปรับเปลี่ยนมาให้ใช้ตามระดับที่เข้าใจง่าย เริ่มตั้งแต่ Entry, Mid และ High
บทสรุปเพิ่มเติม หลังจากทดสอบ
1. การแปลง ส่วนหน้า นั้นมีมานานแล้วสำหรับ รีโว่ ครั้งนี้ก็ไม่แปลกอีกเช่นกัน ถ้าจะมีใครคิดแปลงหน้าเป็นปี 2020 ด้วยพาร์ทแท้จากโตโยต้า ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับว่าแปลงมากหรือน้อย แต่บอกก่อนว่า จะได้แค่หน้าตาที่ดูเหมือนเท่านั้น เพราะโตโยต้า เค้าปรับเซ็ตอีกหลายจุดเพิ่มขึ้นด้วย
2. ไฟ DRL จะไม่ติด หากเบรกมือถูกดึงขึ้นอยู่ขณะจอด
3. เสียงเครื่องยนต์ที่เล็ดลอดเข้ามา รวมถึงเสียงขณะขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่า 120 กม./ชม.นั้นรู้สึกได้ว่ามีความเงียบกว่าเดิม ถือว่าตรงตามวัตถุประสงค์ที่มีการเพิ่มวัสดุซับเสียง
4. ล้อแม็กลายใหม่ต่างจาก ร็อคโค่ ตัวเดิม ขนาด 18 นิ้วพร้อมยาง 265/60 R18
5. สังเกตได้ว่า สวิทช์เปิด/ปิด ระบบ idle start/stop ที่อยู่ใต้แผงคอนโทรลแอร์ หายไป เนื่องมาจากว่า นี่คือการพัฒนา และสร้างรถเพื่อให้ตรงใจคนไทยโดยเฉพาะ ผู้เขียนมิได้นึกคิดเองนะ แต่จากการสอบถามผู้ดูแลรถกระบะของโตโยต้ามา
6. ไฟ ambient light สีฟ้าที่แผงประตู จะติดขึ้นตั้งแต่เปิดประตูขณะยังไม่ได้สตาร์ทเครื่อง และจะติดเพื่อสร้างบรรยากาศขณะขับขี่ไปตลอดด้วย
7. หน้าจอมาตรวัดแสดงข้อมูล จะได้เมนู แสดงทิศทางล้อ เพิ่มเข้ามา เพื่อกันเวลาที่เราหักเลี้ยวไม่ให้หลงพวงมาลัยว่า ล้อหันไปทางไหนอยู่ ถ้าเข้าเกียร์ถอยหลัง หน้าจอนี้ติดขึ้นมาด้วยเช่นกัน แม้ไม่ต้องเข้าโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ
8. ไม่ต้องค้นหาแผนที่นำทางในจอเอนเตอร์เทนเมนท์ เพราะไม่มีมาให้ แค่เสียบมือถือเข้าไปเท่านั้นเพื่อใช้ Apple CarPlay แผนที่จากมือถือก็ถูกเชื่อมต่อเข้ามาแล้ว เชื่อมต่อได้ไว ไม่ซับซ้อน
9. กระจกไฟฟ้าทั้ง 4 บาน เป็นแบบอัตโนมัติทั้งขึ้น – ลง สะดวกดี เป็นออปชั่นที่ทัดเทียมไม่ต่างจากรถหรูๆ
10. ระบบ VFC หรือ Variable Flow Control ที่ติดตั้งในระบบวงมาลัย เพื่อให้น้ำหนักพวงมาลัยแปรผันตามความเร็ว ไม่ได้หมายความว่า เมื่อขับเร็วมากเท่าไหร่ พวงมาลัยจะตึงมือขึ้น ใครที่เคยขับรีโว่ จะทราบว่า พวงมาลัยมีน้ำหนักค่อนข้างหนักอยู่แล้ว หากรถหยุดนิ่งแล้วหมุนพวงมาลัย ระบบเพาเวอร์จะผ่อนแรงเป็นปกติ แต่เมื่อไหร่ที่ล้อรถเริ่มเคลื่อนที่ ระบบ VFC จะเข้ามาช่วย ปั๊มแรง ของน้ำมันไฮดรอลิกให้มากกว่าเดิม พูดง่ายๆ คือ ด้วยคาแร็กเตอร์เดิมค่อนข้างมีความหนัก แต่พอได้ระบบนี้เข้ามาช่วย จึงผ่อนแรงได้มากกว่าเดิมตอนรถเคลื่อนที่
11. อาการของรถแบบไม่มีของบรรทุก นั่งกันไป 3 คน บนถนนปกติก็รู้สึกได้ว่า มีความนุ่มนวลขึ้น การดีดเด้งลดน้อยลงไปมากพอสมควร โดยเฉพาะตอนทดสอบขับเข้าทางลูกรัง มีหลุมบ่อ รู้สึกได้ว่าหัวสั่น หัวคลอนน้อยลง ขับสบาย นั่งสบายมากขึ้นจากการที่โตโยต้าเซ็ตชุดแหนบใหม่ พร้อมเซ็ตช็อคอัพใหม่ทั้ง 4 ต้น หากใครคิดจะอัพเกรดให้กับ รีโว่ ตัวเดิมก็ทำได้เช่นกัน ชุดแหนบ ประมาณหมื่นบาท (แค่แหนบนะ) ไม่รวมส่วนควบอื่นๆ เช่นจุดยึด โตงเตง เป็นต้น
12. ระบบ LDA หรือ Lane Departure Alert เตือนเวลาออกนอกเลน ถูกติดตั้งเข้ามาด้วย การตรวจจับเส้นถนน ทำได้ค่อนข้างดี เส้นถนนไม่ชัดมากก็จับเจอ โดยเมื่อรถเริ่มจะทับเส้นเลน ระบบจะเตือน และดึงกลับให้เข้ามาในเลน ตอนดึงกลับไม่แค่ดึงจากพวงมาลัยเท่านั้นนะ ยังมีการเบรกจากล้อฝั่งตรงข้ามเข้ามาควบคุมเวลาดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติด้วย