ไขข้อข้องใจ “5 เรื่อง” ชวนสงสัยของ MG4 Electric

MG4 Electric มาพร้อมคอมเซ็ปต์  “ICON” เพื่อสร้างนิยามความเป็น “ต้นแบบ” และมาตรฐานใหม่ของรถ “EV” ชนิดที่ว่าลองขับแล้ว รู้สึกได้ว่าเลยภาพจำของรถไฟฟ้ากำลังเปลี่ยนไป เพราะนี่ไม่ใช่การต่อยอดจากสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น “หากแต่เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่” อย่างแท้จริง เพื่อให้เป็น Hatchback พลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนด้วยล้อหลัง

MG4 Electric

ซึ่งเราเชื่อว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ หลายคนคงมีความรู้ความเข้าใจกันพอสมควร เช่น โครงสร้าง Nebula Pure Electric Platform ใหม่ ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรก, แบตเตอรี่แบตเตอรี่แบบ Cell to Pack ขนาดความจุ 51 กิโลวัตต์ ที่มากับเทคโนโลยี Rubik’s Cube ระบายความร้อนแบบ Liquid Cooling System ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้กระจายน้ำหนักอย่างสมมาตรที่ 50:50 รวมไปถึงเทคโนโลยี KERS (Kinetic Energy Recovery System) ปรับได้ 4 ระดับ เพื่อทำหน้าที่ชาร์จพลังงานกลับสู่แบตเตอรี่ ไปจนถึงโหมด Intelligent Smart Access ที่สตาร์ทรถอัตโนมัติ ได้จากการเหยียบเบรก

MG4 Electric

ส่วนเรื่องรายละเอียดตัวรถที่สวยงาม จะมีอะไรบ้างทั้งภายนอก และภายใน สามารถติดตามชมได้ที่คลิปนี้ !!! … ก่อนจะไปสู่บทสรุปส่งท้าย ด้วยการตอบคำถามยอดฮิตติดลมบนที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับ MG4 … ? และคลิปการทดลองขับ ซึ่งเราจะมาบอกเล่าความรู้สึกในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร … ?

https://www.youtube.com/watch?v=ufiQ05MwWbc&t=435s

Q : อยากจะซื้อรถไฟฟ้า (MG4) บริษัทประกันไหนบ้างที่รับดูแล .. ?

A : คำถามนี้ ตอบง่ายมาก เพราะส่วนใหญ่หลายโชว์รูมแล้วจะมาพร้อมแคมเปญแจกแถมมากมาย โดยพระเอกหลักๆ ก็คือ การแถม “ประกันภัยชั้น 1” ส่วนจะมีตัวเลือกมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวแทนจำหน่าย แต่ถ้าหลังจากหมดระยะเวลารับประกัน แล้วอยากเปลี่ยนบริษัทจะมีที่ไหนบ้าง อันนี้เราก็โทรไป Call Center และหาคำตอบมาแล้วเช่นกัน โดยสรุปสั้นๆ ว่า “รับหมด” ทุกบริษัท เพราะงั้นหายห่วงได้

MG4 Electric

Q : MG4 ถ้าแบตเตอรี่เสื่อม ต้องเปลี่ยนเฉพาะโมดูล หรือยกแพค .. ?

A : แน่นอนว่าหลายคนอาจคิดว่า MG4 จะเหมือน MG EP ด้วยสถานะของรถไฟฟ้า 100% เหมือนกัน … แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วทั้ง 2 โมเดลต่างกันโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก MG4 มากับการออกแบบใหม่ทั้งหมดอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ฉะนั้นเมื่อแบตเตอรี่เสื่อมจึงไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะโมดูลได้ เพราะงั้นต้องเปลี่ยนแบบยกแพคเท่านั้น แถมให้อีกนิดกับสนนราคา “เฉพาะค่าแบตเตอรี่อย่างเดียวจะอยู่ที่ราวๆ 520,000 บาท”

แต่เอาเข้าจริงๆ ถ้าใช้งานปกติ ไม่ได้วิตถารอะไรเกินชาวบ้านเค้า เราก็ไม่ต้องห่วงไปหรอก เนื่องจากเค้ามีโปรแกรมการวารันตีมาให้ถึง 8 ปี หรือ 180,000 กม. (แล้วแต่อย่างใด อย่างหนึ่งถึงก่อน) เพียงแต่เราขอแนะนำว่าก่อนจะออกรถ “สงสัยอะไร ก็พูดคุย สอบถาม ทำความเข้าใจให้ครบถ้วนซะก่อน ว่ามีข้อจำกัด ข้อยกเว้น อะไรบ้าง จะได้ไม่ต้องดราม่ากันตอนหลัง”

MG4 Electric

Q : แบตของ MG4 ที่อยู่ใต้ท้องรถมีแผ่นป้องกันมั้ย .. ?

A : ตอบสั้นๆ ว่ามีครับ เพราะตัวแบตเตอรี่ เค้ามีการพัฒนา และออกแบบให้ติดตั้งอยู่ในระนาบเดียวกับแชสซีร์รถ แล้วก็มีแผ่นปิดใต้ท้องมาให้ เอาเป็นว่าถ้าลองไปมุดใต้ท้องรถดูเนี่ยจะเห็นเลยว่ามีความ เรียบเนียนเป็นแผ่นกระดานเลยทีเดียว นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ได้เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ประโยชน์ทางด้านอากาศพลศาสตร์ เช่น สมดุลตัวรถที่ดี มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ เพราะงั้นอารมณ์การขับขี่มันจึงมีความสปอร์ต และก็สนุกๆ เกินเบอร์ไปเยอะทีเดียว

MG4 Electric

Q : เห็นระยะห่างรถกับพื้นถนนแล้ว “เตี้ย” ขนาดนี้ ขับขี่ต้องระวังมั้ย .. ?

A : ตัวเลข 117 มม. คือ ระยะห่างของความสูงใต้ท้องรถ แต่ถ้ามองแล้วรู้สึกว่า “เตี้ย” นั่นอาจจะเป็นเหตุผลเรื่องงานดีไซน์ เพราะอย่างที่บอกไปว่า เค้ามีออกแบบให้แบตเตอรี่อยู่ในระนาบเดียวกับแชสซีร์รถ แถมยังมีแผ่นปิดใต้ท้องรถมาให้อีก แล้วกว่าที่เค้าจะออกโปรดักส์มาใหม่ ก็ทดสอบไปไม่รู้กี่รูปแบบ ฉะนั้นถ้าใช้งานแบบปกติทั่วไปรับรองว่าสบายหายห่วง

หรือพูดง่ายๆ คือ อย่าไปคิดว่ารถไฟฟ้า 100% จะมีคุณสมบัติเหมือนยานอวกาศที่ทนทานได้ทุกสภาวะ เจออะไรก็ลุยได้ทั่ว แต่ให้คิดว่าถ้าคุณขับรถเครื่องยนต์สันดาปด้วยความระมัดระวังขนาดไหน ก็จงขับ MG4 ด้วยความรู้สึก และพฤติกรรมแบบเดียวกัน

เพราะสมมุติถ้าขับรถเครื่องยนต์สันดาปไปเจอน้ำท่วม ยังไงเลี่ยงได้ ก็เลี่ยงเพราะกลัวพัง … กรณีเดียวกัน พอเปลี่ยนไปขับรถไฟฟ้า 100% กลับซัดกันเต็มที่ ไม่ว่าจะลุยน้ำ หรือจอดแช่ เราเลยงงเล็กๆ ว่า “มีเหตุผลอะไรมาทำให้คิดกัน ว่ารถไฟฟ้า ทำได้ และ “ไม่พัง”

MG4 Electric

Q : การชาร์จไฟที่ตู้ดูอย่างไร ระหว่างหัวชาร์จ AC หรือ DC.. ?

A : อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ ดูที่ลักษณะของช่องชาร์จบนรถครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วย MG4 พอเปิดฝาออกมา จะเห็นช่องชาร์จเลยทันที โดยรูปร่างหน้าตาแบบนั้นเค้าเรียก ช่องชาร์จแบบ AC ครับ โดยจะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Type 1 สำหรับรถสัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกา

และที่เราพบเจอกันเป็นส่วนใหญ่ และใช้กันหลากหลาย ก็คือ  Type 2 สำหรับรถสัญชาติยุโรป รวมถึงที่จำหน่ายในบ้านเรา โดยความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 แบบ ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือแบบ Type 1 จะมี 5 รู ขณะที่ในรุ่น Type 2 จะมีรูมากกว่า คือ 7 รู

สำหรับช่องชาร์จแบบ DC ก็เรียกได้ว่าหน้าตาไม่ต่างอะไรจากเดิมเท่าไหร่ เพราะเป็นการเอาช่องชาร์จแบบ Type 2 มาเพิ่มอีก 2 ช่องด้านล่าง ซึ่งถ้าอ้างอิงจาก MG4 จะเห็นว่ามีตัวอักษร DC เขียนอยู่ พอดึงออกมาจะเจอช่องชาร์จขนาดใหญ่อีก 2 ช่อง

และหัวชาร์จประเภทนี้ก็มีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทเช่นกัน คือ แบบ CHAdeMO ที่เหมาะกับรถสัญชาติญี่ปุ่น กับอเมริกา ส่วนแบบที่ใช้กันหลักๆ ในบ้านเรา จะมีชื่อเรียกว่า CCS2 สำหรับรถยุโรป และรถที่จำหน่ายในประเทศไทยนั่นเอง

MG4 Electric

ราคารถใหม่

MG4 Electric รุ่น D ราคา 869,000 บาท

MG4 Electric รุ่น X ราคา 969,000 บาท

แท็กยี่ห้อรถยนต์ : MG

แท็กฮิต : , , , , ,