รีวิว : Mitsubishi Attrage ไมเนอร์เชนจ์ MY2020 เปลี่ยนหน้าใหม่ ปรับรายละเอียดเพิ่มเล็กน้อย แต่ไฉไลขึ้น
เราได้เห็นในส่วนของรถยนต์ อีโคคาร์ ที่ทะยอยเปิดตัวไล่เรียงกันมาหลายค่าย ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยหนึ่งในนั้นมีค่ายมิตซูบิชิ รวมอยู่ด้วย ถึงแม้ในช่วงที่เปิดตัวออกมาจะไม่ได้เป็นกระแสที่หวือหวามากเท่าไหร่ เพราะอีโคคาร์ค่ายมิตซูบิชิ ยังคงเป็นในแบบ ไมเนอร์เชนจ์ ก็ตาม แต่ดูแล้วก็มีอะไรให้น่าติดตามอยู่ไม่น้อย สำหรับเจ้า Mitsubishi Attrage ไมเนอร์เชนจ์ MY2020 อีโคคาร์ เฟส 2 ที่คลอดได้ทันเวลาเพื่อมาปะทะคู่แข่งในตลาด
ในส่วนของรีวิวครั้งนี้ เราได้แฝดน้อง Mitsubishi Attrage ซึ่งเป็น ซีดาน อีโคคาร์ ของแฝดพี่อย่าง Mirage บอกเลยว่าเจ้า แอททราจ (รวมมิราจด้วย) ถือเป็นอีโคคาร์ เฟส2 ที่คลอดมาตามเวลาที่รัฐกำหนด ให้ต้องเปิดตัวก่อนหมดปี 2019 แต่การทำตลาดในเฟส2 ครั้งนี้อาจจะไม่เหมือนบางค่ายที่จังหวะพอดีกับโมเดลใหม่ แต่ก็ไม่แปลก เพราะมิตซูบิชิเองไม่ได้แตกต่างกับอีกหลายค่าย ที่เลือกจะไมเนอร์เชนจ์ อีโคคาร์ในมือ เพื่อลงสู้ศึกในสมรภูมินี้ด้วยเช่นกัน
ออกแบบใหม่ตามคอนเซ็ปท์ Advance Dynamic Shield
ถ้านับจุดเริ่มต้นที่เรารู้จักกับ มิตซูบิชิ แอททราจ คงต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อปี 2013 ระหว่างนั้นก่อนถึงวันนี้ ก็ได้มีการปรับใหญ่ไปแล้วครั้งนึง ส่วนคราวนี้เป็นการปรับ เพื่อให้รับกับเจนเนอเรชั่นใหม่ของคอนเซ็ปท์การออกแบบ Advance Dynamic Shield ที่เราเห็นผ่านตากันมาระยะใหญ่ๆ แล้ว ตั้งแต่ มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์, ไทรทัน จนมาถึง ปาเจโร่ และที่เราเห็นล่าสุดก็คือ แอททราจ นี้
หากไล่เรียงในส่วนของภายนอกว่ามีอะไรแปรเปลี่ยนไปบ้าง คงเป็นเรื่องของหน้าตา ที่ไม่ใช่แค่การปรับแก้จากบล็อกเดิม แต่มีการออกแบบใหม่ แก้ไขใหม่ในหลายๆ ส่วนอาทิ
- ฝากระโปรงหน้าใหม่ เพื่อให้สอดรับกับดีไซน์ล่าสุด
- กระจังหน้าแบบใหม่สีดำ (เฉพาะรุ่น GLS กับ GLS Ltd จะคาดด้วยเส้นแดง 2 แถบ)
- กันชนหน้าใหม่
- โคมไฟหน้าใหม่ พร้อมเลนส์โปรเจ็กเตอร์ ไฟหน้าแบบ Bi-LED พร้อมไฟ Daytime Running Light ใหม่
- สปอตไลท์ดีไซน์ใหม่
- กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวในตัว ปรับพับด้วยไฟฟ้า
- ไฟท้ายดีไซน์ใหม่แบบ LED พร้อมกันชนหลังปรับดีไซน์ใหม่เล็กน้อย
โดยมิตซูบิชิ แอททราจ มีขนาดมิติตัวถัง ความยาว 4,305 มม. ความกว้าง 1,670 มม. ความสูง 1,515 มม. ระยะฐานล้อ 2,550 มม.ส่วนความกว้างของฐานล้อด้านหน้ามีขนาด 1,430 มม. ความกว้างฐานล้อหลังขนาด 1,415 มม. นอกจากนี้ยังได้ ล้อแม็กลายใหม่ ขอบ 15 นิ้ว พร้อมด้วยยางขนาด 185/55 R15
ภายในปรับแต่งนิดหน่อย อร่อยกลมกล่อมขึ้น
เมื่อเปิดเข้ามาในห้องโดยสาร ทุกอย่างยังคงแพตเทิร์นเดิม แต่ได้เพิ่มเติมเพื่อความกลมกล่อมขึ้น อย่างเช่น แผงประตู ที่ปรับพื้นผิวในสไตล์คาร์บอนไฟเบอร์ ให้ดูสปอร์ตเล็กๆ
เบาะนั่งหุ้มด้วยวัสดุหนังเคราะห์ สีดำ สามารถปรับสูง-ต่ำ ได้ด้วยลูกบิดมือหมุนด้านข้าง ที่โดนใจเห็นจะเป็น ที่ท้าวแขน ซึ่งอยู่ติดกับตัวเบาะนั่งคนขับ สามารถปรับองศาการวางแขนได้ตามต้องการ โดยที่เบาะนั่งนั้นออกแนวนั่งนุ่มสบายมากกว่ากระชับ ส่วนเบาะหลังนั้น ได้เพิ่ม หัวหมอน ตรงกลางมาอีกหนึ่งตำแหน่ง สำหรับผู้โดยสารด้านหลังที่นั่งตรงกลาง
แผงคอนโซลยังมีหน้าตาคงเดิม มาตรวัดปรับเล็กน้อยดูแจ่มขึ้นด้วยพื้นมาตรวัดลายคาร์บอน พร้อมหน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่ที่มีมากมายหลายเมนูอย่างจัดเต็ม เสียดายว่าพวงมาลัยปรับสูง-ต่ำได้ปกติ แต่ถ้าปรับระยะเข้า-ออกได้ด้วยจะเพอร์เฟ็กท์กว่านี้ บนก้านพวงมาลัยเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น ซ้ายมือปรับตั้งในส่วนของเอนเตอร์เทนเม้นท์ และโทรเข้ารับสาย ด้านขวาเป็นสวิทช์ควบคุมระบบครูสคอนโทรล
ในมิตซูบิชิ แอททราจ ยังได้ติดตั้งระบบ FCM-LS เตือน และป้องกันการชนด้านหน้า(ความเร็วต่ำ)มาให้ รวมทั้งยังมีระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพการขับขี่ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่อีโคคาร์เฟส2 ต้องมี
ระบบความบันเทิง เป็นชุดเครื่องเสียงที่ถูกปรับปรุงใหม่ใน MY2020 ด้วยหน้าจอทัชสกรีน ขนาด 7 นิ้ว รองรับวิทยุ FM/AM และ USB โดยไม่มีช่อง CD มาให้เล่นแล้ว รวมทั้งยังเพิ่มความทันสมัยด้วยการรองรับ Apple CarPlay รวมไปถึง Bluetooth และ Siri Voice Command
ในส่วนของเนื้อที่ห้องเก็บสัมภาระด้านหลัง มีความกว้างคงเดิม โดยมีความจุ 450 ลิตร และเมื่อเปิดแผงกรุพื้นหลังขึ้นมา จะพบว่า ล้ออะไหล่ หายไป แต่ให้ชุดปะยาง ชุดลากจูง และเครื่องมือมาแทน เป็นการลดน้ำหนักไปในตัว
เครื่องยนต์ยังคงเดิม 3 สูบ 12 วาล์ว 1.2 ลิตร
ขุมพลังยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ด้วยเครื่องยนต์บล็อก 3A92 ขนาด 1,193 ซีซี 3 สูบ 12 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 78 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 100 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบ/นาที รองรับเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึง E20 ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ CVT INVECS-III โดยมี G-Sensor คอยตรวจจับการทำงานการเปลี่ยนเกียร์ตามสภาพทางลาดชัน
ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแม็กเฟอร์สัน สตรัท ส่วนด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเหล็กกันโคลงมาให้ทางด้านหน้า ระบบเบรกด้านหน้าเป็นแบบดิสก์เบรก พร้อมช่องระบายความร้อน ด้านหลังเป็นแบบดรัมเบรก พร้อมระบบ ABS, EBD, BA
ลองขับแบบ one day trip กทม – เขาใหญ่
ครั้งนี้มีเวลาพอสมควร ผมจึงเลือกเส้นทางการขับที่ออกนอกเมืองเสียหน่อย ไม่รู้เพราะพิษไวรัสโควิด-19 หรืออย่างไร เส้นทางไปเขาใหญ่จึงรู้สึกโล่งขึ้นประมาณนึง เราจึงได้ทดสอบจับอาการในหลายๆ รูปแบบ ไม่อย่างนั้นบอกได้คำเดียวว่า ต่อให้เป็นเขาใหญ่ก็เหมือนขับอยู่ในเมือง
ความแตกต่างจากเดิมคงไม่มีอะไรมาก เพราะส่วนใหญ่เน้นไปที่รูปลักษณ์ และหน้าตา คันเกียร์แบบขั้นบันไดยังให้ความรู้สึกดูเท่ในบางอารมณ์ เครื่องยนต์ 3 สูบของมิตซูบิชิ ทำงานได้ค่อนข้างนิ่งทีเดียว แม้รอบเดินเบาจะอยู่ราว 800 รอบ/นาทีก็ตาม
การออกตัว ไม่ต้องเหยียบคันเร่งเยอะ แตะเพียงแผ่วเบาก็พร้อมจะทะยานไปข้างหน้า ขนาดถนนในเมือง ใช้คันเร่งอยู่ราว 20% พอเหลือบมองหน้าปัดอีกที นี่ความเร็วไปถึงประมาณ 80 กม./ชม.แล้วเหรอ เมื่อขึ้นทางด่วนได้ และเข้าสู่ถนนวงแหวน ด้วยความเร็วตามกม.กำหนดไม่เกิน 120 กม./ชม.ยังรู้สึกว่าเหยียบคันเร่งไปเพียงเล็กน้อยไม่เกิน 40% เท่านั้นเอง
พวงมาลัยแบบไฟฟ้าที่หลายคนมักถามหาความสมูธ ทำงานได้อย่างที่ผมเอง ค่อนข้างชอบมากพอสมควร (เมื่อเทียบกับอีโคคาร์ด้วยกัน) พวงมาลัยจะพยายามคืนตัวกลับมาอยู่ในตำแหน่งตรงอยู่ตลอด หากมีการหมุนไปซ้าย-ขวาเพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนรุ่นอื่นๆ ที่พอพวงมาลัยขยับ มักต้องออกแรงคืนพวงมาลัยให้กลับมาตั้งตรง ทำให้ขับง่าย และมั่นใจมากพอสมควรทีเดียวเมื่อเทียบในอีโคคาร์กับรุ่นอื่นๆ
ช่วงล่างจากเดิมที่ออกอาการ นุ่ม และย้วยนิดๆ ตอนเข้าโค้ง กลับรู้สึกว่าเหมือนมีการปรับเซ็ตให้ทำงานได้ เฟิร์มขึ้น ไม่นุ่ม (ออกนิ่ม) แบบเดิม แต่ก็ไม่กระด้าง โดยเฉพาะตอนที่ขับขึ้น-ลงเขาใหญ่ ที่ส่วนมากจะมีแต่ โค้ง ทั้งแคบทั้งกว้าง ซึ่ง แอททราจ ตัวนี้เข้าโค้งได้ในแบบที่ ยังคงรักษาความเร็วได้ ไม่ต้องลดความเร็วลงมามากๆ เพื่อจะเข้าโค้ง ถือว่าเซ็ตมาได้ดีทีเดียว
อีกทั้งการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ CVT INVECS-III มีความฉลาด ทำงานได้สัมพันธ์กับการลด-เพิ่มความเร็ว คือเป็นอะไรที่ขับได้สนุกขึ้นมาก ตอนขึ้น-ลงเขาผสมกับโค้ง ทำให้คนชอบขับรถรู้สึกสนุกไปด้วย รวมถึงถ้ามีผู้โดยสารไปด้วย ด้วยสภาพเส้นทางแบบนี้ ลดอาการเมาโค้งได้อย่างแน่นอน
ในส่วนของอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง แม้จะไม่ได้ตั้งใจขับแบบต้องการการประหยัดแบบจริงจัง เพราะรู้สึกว่าชีวิตนั้นมีค่า ดีกว่าขับอ้อยอิ่ง แล้วง่วงหลับใน โดยเมื่อเติมน้ำมันกลับไป แล้วคำนวณอัตราสิ้นเปลือง ก็ได้ตัวเลขแบบที่ใช้งานจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจเสกสรรปั้นแต่ง ที่ประมาณ 16 กม./ลิตร
สรุปส่งท้ายสำหรับ Mitsubishi Attrage GLS-Ltd ไมเนอร์เชนจ์ MY2020 สร้างความประทับใจในเรื่องของการขับขี่ขึ้นมาก สร้างความมั่นใจ และรู้สึกสนุกไปกับการขับขี่ โดยมีออปชั่นที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอีโคคาร์รุ่นอื่นๆ ในตลาด สำหรับหน้าตาใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมชมชอบส่วนบุคคล แต่การได้ไฟหน้า LED และมี Daytime Running Light ช่วยส่งผลให้หล่อขึ้นมากแล้วนะ
ราคาจำหน่าย Mitsubishi Attrage ทั้ง 4 รุ่นย่อย
Attrage 1.2 GLX (5MT) 494,000 บาท
Attrage 1.2 GLX (CVT) 536,000 บาท
Attrage 1.2 GLS (CVT) 579,000 บาท
Attrage 1.2 GLS-Ltd (CVT) 624,000 บาท