ค้ำโช้คหน้า ค้ำหลัง ค้ำบน ค้ำล่าง ค้ำกลาง เมื่อใส่แล้วได้อะไร? ใส่อย่างไร? ใส่ชิ้นไหนบ้าง สำคัญที่สุด?

ถ้าว่าในเรื่องการติดตั้ง ค้ำโช้คหน้า หรือ ค้ำเเบบต่างๆ ที่จะว่าง่ายก็ง่าย เพียงขันน็อตยึดติดตั้งมันลงไปตามตำแหน่งที่ผู้ผลิต และจุดยึดจากที่รถกำหนดมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะใช้จุดยึดน็อตเดียวกันกับตำแหน่งเดิมที่มีอยู่นั่นเอง เช่นชุดน็อตหัวช็อคฯ ชุดน็อตยึดปีกนกต่างๆ เพียงถอดออกมา ใส่ค้ำเข้าไป แล้วก็ขันน็อตยึดกลับไปที่เดิม เป็นอันเสร็จ…หรือไม่?

ทำไมรถยนต์เราจึงต้องมีการค้ำตัวถัง

เมื่อรถยนต์ของเราสัมผัสพื้นถนนด้วยล้อทั้ง 4 ล้อโดยมีระบบช่วงล่าง โช้คอัพ สปริง ช่วยรับน้ำหนัก ให้ตัวรถนั้นเคลื่อนที่ไปด้วยความนุ่มนวล เกาะถนน และดูดซับแรงกระแทกต่างๆ ได้อย่างดีแล้ว หากแต่ถ้าตัวถังรถยนต์ไม่มีความแข็งแรงที่มากพอที่จะรับแรงจากช่วงล่างได้ ด้วยการขับขี่ในรูปแบบสปอร์ตมากขึ้นกว่าเดิม หรือเกิดการกระแทกจากหลุมบ่อของถนน ยังส่งผลให้ตัวถังรถมีอาการสั่น และบิดตัวได้ และอาการนั้นก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังการควบคุมขับขี่ที่จะทำได้ยาก เกาะถนนน้อยลง และยากที่จะคาดเดาอาการของรถได้

ดังนั้นบรรดาค้ำตัวถังต่างๆ ที่ติดตั้งมันลงไปในรถจึงช่วยทำหน้าที่ลดการบิดตัวของตัวถังให้น้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ตามจำนวนชิ้นที่ใส่มันลงไป เพื่อช่วยรักษาการบังคับควบคุมรถ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในทุกสภาวะการขับขี่


ในบางตำราเค้าว่ากันไว้ว่า ถ้าจะใส่พวกค้ำต่างๆ ให้ยกรถให้ลอยจากพื้นก่อนแล้วจึงใส่ลงไป ขันน็อต เพื่อให้แรงโน้มถ่วงเป็นตัวช่วยในการยึดติดให้แน่นกว่าบางตำราที่บอกว่าก็จอดอยู่กับพื้นราบก็ใส่ได้อย่างแน่นหนาดีเพียงพอแล้ว ซึ่งจะด้วยขั้นตอนการใส่แบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคงจะเป็นการเช็คความเรียบร้อยหลังติดตั้งให้ดีว่าไม่ได้พลาดจุดใดจุดหนึ่งไป จนอาจเป็นเหตุให้น็อตคลายออกมา จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้

คำถามที่ว่าส่วนไหนสำคัญ หรือมีผลให้การตอบสนองที่ดี รู้สึกได้อย่างชัดเจนจากการใส่ค้ำ ก็ตอบได้เลยว่า ทุกชิ้นส่วนล้วนมีเหตุและผลของมันในตัวเอง ใส่แต่ละชิ้นก็จะส่งผลกระทบตอบสนองต่อช่วงล่างหรือตัวถังได้ทุกจุด หากแต่เพียงว่าจุดไหนที่ได้ผลดีที่สุดนั้น ถ้าจะแนะนำให้ไว้เป็นไกด์ไลน์ละกันสัก 3 จุด ที่ค่อนข้างเห็นถึงผลลัพท์ และประสิทธิภาพที่มีออกมามากที่สุด ได้แก่ ค้ำโช้คหน้า และค้ำล่างหน้า

ค้ำโช้คหน้า และค้ำล่างหน้า (Strut Bar, Lower Arm)

ในขณะที่รถวิ่งทางตรง แรงสั่นสะเทือนต่างๆ ที่กระทำเข้ามาจากช่วงล่าง จะทำให้ตัวถังมีอาการสั่น บิดตัว หรือกระพือได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้รถมีอาการที่เรียกว่า ร่อน กระเด้งไปมา จนส่งผลให้ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดน้อยลงจากปกติได้ ตัวค้ำโช้คหน้า และค้ำล่างหน้า จะช่วยขจัดอาการดังกล่าวด้วยการถ่ายเทแรง และกระจายแรงกระทำต่างๆ ให้ลดน้อยลง ช่วยให้ช่วงล่างได้ทำงานตามหน้าที่ของมันได้อย่างดียิ่งขึ้น

เหล็กกันโคลง

ขณะที่ตัวรถทำการเข้าโค้งจะมีการถ่ายน้ำหนักระหว่างกัน จากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายเกิดขึ้น ซึ่งตัวรถยนต์ปกติก็จะมีอาการโคลงเคลงเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็จะทำให้การบังคับพวงมาลัยทำได้ยาก เหล็กกันโคลงนี้ก็จะช่วยลดอาการโคลงตัวดังกล่าวได้ ทำให้ตัวรถเอนตัวน้อยลง มีความสเถียรมากขึ้น จนทำให้สามารถควบคุมรถในโค้งได้ง่ายขึ้นนั่นเอง (โดยในรถบางคันก็จะมีติดตั้งมาอยู่แล้วจากโรงงาน จะแตกต่างกันที่ บางคันมีด้านหน้ามาแล้วแต่ไม่มีด้านหลังเป็นต้น)

ซึ่งในการออกแบบระบบกันสะเทือนของรถแต่ละรุ่น (ในกรณีรถสแตนดาร์ด) ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน ส่วนประกอบต่างๆ อาทิ แขนยึด (Links) สปริงรูปแบบต่างๆ โช้คอัพ รวมถึงเหล็กกันโคลง ต้องเลือกชุดจับคู่ ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวตามวัตถุประสงค์ของรถ ขนาดของเหล็กกันโคลงถูกให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นๆ ขนาดที่ว่าหมายถึง “ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง” ของท่อนเหล็กกันโคลง ยิ่งใหญ่ ค่า K ยิ่งมาก แข็งมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเหล็กกันโคลงต้องทำงานร่วมกับส่วนประกอบอื่นๆ ของช่วงล่างด้วย

ความแข็งของเหล็กกันโคลงหรือขนาดความใหญ่ ที่ล้อหน้าและหลังไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ส่วนนี้ต้องอยู่กับการเซ็ตอัพ รถยนต์คันหนึ่งๆ ในขั้นตอนการทดสอบก่อนเข้าสู่ไลน์การผลิตจริง จึงมีช่วงล่างออกมาลองวิ่งกันอยู่หลายชุดมาก (บนพื้นฐานเดิม เช่น เป็นแบบปีกนกเหมือนกัน ต่างกันที่ค่าความแข็งของสปริง ขนาดเหล็กกันโคลง ความหนืดของโช้คอัพ เป็นต้น) ช่วงล่างชุดที่ใช้งานได้ดีในเมืองนอก อาจไม่ดีพอกับสภาพถนนในบ้านเราก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น เหล็กกันโคลก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่สามารถที่จะอัพเกรด หรือเซ็ทอัพค่าความแข็ง ความเสถียร ของการโคลงของรถให้กับรถของคุณได้ตามต้องการ ทั้งหน้าและหลัง