“แบตเตอรี่” (Battery) ก็มี “อายุ” … งั้นมาดูว่าเมื่อไหร่ “ต้องเปลี่ยน”
ว่าด้วยเรื่องของ “แบตเตอรี่” (Battery) สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ในครอบครอง คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากมากนัก เพราะน่าจะค่อนข้างรู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ, คุณสมบัติ หรือหน้าที่ก็ตาม … แต่ไหนๆ ก็พูดถึงแล้ว ก็ขอสรุปสั้นๆ ให้อีกทีว่า “แบตเตอรี่” คือ แหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรอง ซึ่งมีหน้าที่ป้อนกระแสไฟให้กับอุปกรณ์ในรถยนต์ เช่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ หรือ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในฐานะทัพเสริม
และก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า “แบตเตอรี่” (Battery) เองก็มีอายุการใช้งาน โดยส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ราวๆ 2 ปีไม่เกินกว่านั้น ด้วยสาเหตุหลักๆ ก็คือ เสื่อมสภาพจากหน้าที่ เช่น เก็บไฟไม่อยู่ หรือชาร์จไฟไม่เข้า ซึ่งผู้ขับขี่สังเกตง่ายๆ จากอาการ เช่น ไฟหน้ารถที่อยู่ดีๆ สว่างน้อยกว่าที่ผ่านมา หรือไม่ก็กระจกไฟฟ้าขึ้น-ลงแบบอืดๆ ไปจนถึงความผิดปกติต่างๆ ของระบบไฟฟ้าในรถ ตลอดจนอาการ “สตาร์ทยาก” ที่อาจจะลามปามไปถึงขั้นสตาร์ทยากมากล่ะก็ แน่นอนว่าเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า และ “จำเลย” ก็ดูจะมีไม่มากเท่าไหร่ ที่แน่ๆ ฉะนั้นถ้าจะให้ดีลองตรวจสอบดูซักนิดก่อน เพราะถ้าปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่แน่นอน จะได้จัดการเปลี่ยนให้เรียบร้อย
แล้วก็มีบางกรณี ที่แม้จะยังไม่ใกล้เคียงระยะเวลาหมดอายุขัยของแบตเตอรี่ แต่กลับเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในรถยนต์แบบที่กล่าวไป … อันนี้ก็ให้ลองตรวจสอบที่แบตเตอรี่ดู โดยเน้นเรื่องของ “สภาพ” เป็นหลัก เพราะบางครั้งอาจจะเกิดความเสียหายขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้ตัวแบตเตอรี่เกิดรอยแตก รอยร้าว ขึ้นได้ ซึ่งกรณีนี้เราแนะนำว่าให่รีบเปลี่ยนทันที โดยไม่ต้องรอหมดอายุขัย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพสินย์ได้ง่ายๆ
หรือถ้าเป็นไปได้ การตรวจสอบสภาพของแบตเตอรี่ตั้งแต่ “เปลี่ยน” และทุกครั้งที่มีโอกาสเปิดฝากระโปรงก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากอากาศร้อนๆ ของบ้านเราแล้ว หน้าที่ของแบตเตอรี่เองก็มีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงในห้องเครื่องซึ่งเป็นฐานทัพของแบตเตอรี่เองก็มีความร้อนสะสมที่สูงไม่น้อย
และที่สำคัญเราเองก็ไม่รู้ประวัติของตัวแบตเตอรี่ที่ติดตั้งดีเท่าไหร่ ซึ่งแน่ล่ะคุณภาพการผลิตคงเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ระหว่างทาง ทั้งการขนส่ง, การจัดเก็บของร้านขายปลีกเป็นยังไง ตั้งซ้อน, วางทับ, หยิบจับตกหล่นหรือไม่ ใครจะรู้ … ฉะนั้นก็อย่างที่บอกล่ะครับว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ตรวจดูสภาพกันตั้งแต่แกะกล่อง หรือซักเดือนละครั้ง ไม่ก็ทุกครั้งที่เปิดฝากระโปรง จะได้เพิ่มความชัวร์ในการใช้งาน