ผ้าเบรก (Brake Pad) “มีอายุ” … แล้วจะรู้ได้ไงเมื่อไหร่ “ต้องเปลี่ยน”
สำหรับรถยนต์ “เบรก” คือ ระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานที่มีมาแต่ช้านาน และยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับแต่อดีต จนมาถึงปัจจุบัน พร้อมด้วยการมีทัพเสริมจากเทคโนโลยีล้ำๆ มากมายในฐานะตัวช่วย แต่ด้วยมุมมองของเรา เราเชื่อว่าที่สุดแล้ว “ระบบเบรก” ก็ยังคงเป็นพระเอกหลักๆ ที่จะทำการหยุดยั้ง และป้องกันความเสียหาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นได้ ระบบเบรกจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อมันสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในส่วนของ “ผ้าเบรก” (Brake Pad) ฉะนั้นเจ้าของรถ หรือผู้ขับขี่ ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยความ “ใส่ใจ” ทั้งในเรื่องของการสังเกต และตรวจสอบ เพื่อที่จะได้รู้ว่าเมื่อไหร่ หรืออาการแบบไหน ที่ “เตือน” ให้รู้ ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยน “ผ้าเบรก” (Brake Pad)
เริ่มต้นด้วยข้อแรก สำหรับรถรุ่นใหม่ๆ แน่นอนว่ามันมีการเตือนที่ล้ำสมัยด้วย “สัญญาณไฟ” บนแผงหน้าปัด ซึ่งถ้าหากไฟโชว์ค้างเมื่อไหร่แนะนำว่าให้เข้าเช็คทันที เพราะนั่นอาจจะไม่ได้เกิดจากแค่ระบบมีปัญหา แต่อาจจะรวมถึงการสึกหรอของผ้าเบรกที่บาง จนทำให้น้ำมันเบรกถูกใช้ และลดต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม จนไฟของระบบมันโชว์ขึ้นมานั่นเอง
ข้อต่อมา คือ น้ำหนัก และระยะของการเหยียบเบรกที่เปลี่ยนไป เพราะแน่นอนว่าการที่เราขับใช้งานทุกวี่ ทุกวัน มันต้องมีความคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่หากอยู่ๆ รู้สึกว่ากดแป้นเบรกลงไป “ลึก” เกินกว่าที่ปกติ ก็ให้นึกไว้ก่อนเลยครับว่ามี “ปัญหา” ชัวร์ แถมอีกนิดว่าถ้าเบรกแล้วไม่รู้สึกว่าทำอะไรกับ “ความเร็วของรถ” ได้ล่ะก็มีปัญหาแน่ๆ หรือถ้ายังไม่เชื่ออีก งั้นลองดึงเบรกมือดูครับ เพราะถ้ายังปกติแค่ “ง้าง” ขึ้นมาไม่มากก็จับอยู่ แต่ถ้าดึงจน “สูง” ในระดับแปลกใจ คำตอบคือ เรียบร้อยครับ ผ้าเบรกคงบางจนเกือบเท่ากระดาษ A4 แล้วแน่ๆ
ส่วนใครที่ “หูดี” วิธีสังเกตง่ายๆ คือ “การฟัง” ครับ … เพราะขณะที่กดเบรก หากได้ยินเสียงโลหะเสียดสีกัน อันนั้นหมายถึงความบางของผ้าเบรก ที่ลึกลงไปจนถึงระดับแผ่นเหล็กซึ่งเป็นตัวสัญญาณเตือน และถ้าถึงขนาดนั้นเราแนะนำว่าสมควรที่จะเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน หากไม่อยาก “จ่าย” เพิ่ม เพราะเสียงที่ว่า คือ เสียงของแผ่นเหล็กที่ครูดไปกับจานเบรคจนเกิดเสียงดัง ซึ่งหากฝืนไปอาจต้องเปลี่ยนทั้งผ้า และจาน
สุดท้ายคือ “อายุการใช้งาน” ซึ่งจำง่ายๆ คือ ราว 30,000 – 50,000 กม.ก็ให้ลองตรวจเช็คดูสักครั้ง เพราะพฤติกรรมการขับของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บ้างใช้เบรกน้อย บ้างใช้เบรกเยอะ ก็ตามแต่สไตล์ หรือบางคนก็ไม่ใช้เลย เพราะส่วนใหญ่ “จอด” มากกว่าขับ แต่ด้วยสภาพอากาศ และวัสดุที่ใช้ จึงทำให้การเสื่อมประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ตามอายุขัย ฉะนั้นถ้ารู้สึกว่าเกิดความผิดปกติจากที่คุ้นเคย เราแนะนำว่าควรทำการตรวจสอบทันที ทั้งนี้ก็สิ่งเดียว คือ ความปลอดภัยสำหรับทุกชีวิตภายในรถนั่นเอง