รีวิว : Diesel + LPG By AC Autogaz ดีเซลติดแก๊ส เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำระบบแก๊ส LPG มาใช้งานร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซล

กระแสพลังงานทดแทนที่นิยมกันมากที่สุดในบ้านเราตอนนี้ คงจะหนีไม่พ้น LPG เพราะมีมานานพอสมควรสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่สัญชาติไทยกับ ดีเซลติดแก๊ส คงต้องยกให้บริษัท ทีโอ จำกัด ผู้นำด้านพลังงานทดแทนของเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ “AC Autogaz ” ที่กำลังเป็นกระแสว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ฉบับนี้ผมขอมาไขข้อข้องใจให้ทราบกันทุกคนไปเลยดีกว่า

 

Diesel + LPG By AC Autogaz

ถ้าจะพูดถึงรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ก่อนหน้านี้ถ้าคิดอยากจะประหยัด ผู้บริโภคต้องหันมาคบกับเครื่องยนต์ติด LPG แต่เจ้าของรถคงต้องโยนเครื่องยนต์ดีเซลตัวเก่าทิ้ง และหันไปคบกับเครื่องยนต์เบนซินแทน และไปติดตั้งระบบ LPG ประกบเข้าไปเป็นพลังงานทดแทน เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำระบบแก๊ส LPG มาใช้งานร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซล และ “AC Autogaz” ก็เป็นอีกแบรนด์ที่กล้าการันตรีว่า “แรงขึ้น ประหยัดขึ้น ที่สำคัญ คือ ไม่พัง” ฉะนั้น iAMCAR VARIETY e-MAGAZINE และพี่ๆ น้องสื่อมวลชนอีก 4 ชีวิต จึงไปคุยกับ คุณภัทรวุฒิ เยี่ยมสวัสดิ์ หรือพี่ไอซ์ ผู้บริหารบริษัท ทิโอ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์หัวฉีด AC autogaz จากประเทศโปแลนด์ เพื่อขอลองทดสอบสมรรถนะและความประหยัดของรถเครื่องยนต์ดีเซลบวก LPG จากค่ายนี้

 

การทดสอบช่วงแรก

โดยทาง AC Autogaz จัดรถให้เราทดสอบถึง 2 คัน โดยคันแรกเป็น MITSUBISHI Pajero Sport เครื่องยนต์ 3.2 ลิตร และอีกคันเป็น TOYOTA Vigo 2.5 ลิตร ติดตั้งระบบ LPG มาแล้วทั้งคู่ เราจึงจัดรูปแบบการทดสอบขึ้นมาเอง เพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมแรลลี่ดีๆ ที่ AC Autogaz ได้จัดขึ้นในเส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน ในระยะทางทดสอบร่วมประมาณ 480 กม. โดยแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ช่วงการทดสอบ โดยในช่วงแรกเพื่อให้คุ้นเคยและจดจำความรู้สึกเดิมของเครื่องยนต์ดีเซลปกติก่อน เราจึงวิ่งในโหมดของน้ำมันดีเซลเพียงอย่างเดียว โดยผมรับหน้าที่ขับ MITSUBISHI Pajero Sport ซึ่งในเรื่องอัตราเร่งมันก็อืดอาดตามสไตล์รถที่มีบอดี้หนัก 2 ตัน เราใช้ความเร็วเดินทางโดยประมาณ 110 – 120 กม./ชม. พอถึงที่หมายเราเติมน้ำมันดีเซลเพื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาเป็นตัวเงิน ซึ่งผลเฉลี่ยออกมาได้ระยะทาง 1 กม. เราต้องใช้เงิน 3.50 บาท

 

การทดสอบช่วงที่สอง

มาถึงช่วงที่สองเป็นการทดสอบแบบดีเซลบวกแก๊ส แต่ก่อนจะออกเดินทาง คุณภัทรวุฒิ เยี่ยมสวัสดิ์ ได้มาบรรยายระบบการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบ LPG พ่วงเข้ามา ปกติแล้วเครื่องยนต์ดีเซลจะมีการเผาไหม้ที่ไม่หมดจดเท่าไรนัก จึงมีน้ำมันส่วนที่เหลือจากการเผาไหม้ออกมาทางระบบไอเสียมากถึง 20 % เครื่องดีเซลส่วนใหญ่จึงมีควันดำออกมาทางท่อไอเสีย ทำให้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และ บริษัท ทีโอ จำกัด จึงร่วมกันพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ รอบความเร็ว และคันเร่ง ส่งไปให้กล่อง NECTEC และกล่อง AC Autogaz รุ่น STAG-300 Premium ที่ต่อพ่วงมาจากกล่อง ECU ติดรถเป็นตัวคำนวนในการสั่งจ่ายแก๊ส โดยฝังหัวฉีดแก๊สไว้ที่ท่อไอดีระหว่าง ปลายเทอร์โบกับอินเตอร์คูลเลอร์ เพื่อนำแก๊สเข้าไปผสมกับอากาศและเข้าสู่อินเตอร์คูลเลอร์ไปพร้อมๆ กัน และไปคลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน และยังลดอุณหภูมิให้เท่ากัน ก่อนที่จะเข้าไปในระบบจุดระเบิด ซึ่งแก๊สมีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ทำให้การจุดระเบิดเร็วขึ้น ลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการจุดระเบิดลง ทำให้รอบเครื่องยนต์มาเร็วขึ้น

 

ระบบแก๊สในเครื่องยนต์ดีเซล

เรื่องนี้เป็นหลักการทำงานคร่าวๆ ของระบบแก๊สในเครื่องยนต์ดีเซล คราวนี้เรามาทดสอบกันต่อว่าระบบแก๊สจะใช้ได้ดีจริงหรือไม่ ครั้งแรกที่ผมได้กดคันเร่งแบบจมเท้า ความรู้สึกแรก คือ เหมือนขับรถคนละคัน แรงขึ้นแบบผิดหูผิดตา ทั้งให้รอบต้นๆ หรือให้ช่วงการเร่งแซง ที่จุดสำคัญ คือ เรามุ่งเน้นที่เรื่องความประหยัดมากกว่า จึงใช้ความเร็วและวิธีการขับให้เหมือนตอนขับแบบใช้น้ำมันอย่างเดียวให้มากที่สุด ซึ่งเมื่อถึงที่หมาย เราเติมน้ำมันและแก๊สเต็มถังเท่าเดิม พอหาค่าเฉลี่ยออกมาเหลือกิโลเมตรละ 2 บาท ซึ่งมองคร่าวๆ ประหยัดลงกว่า 40 % ซึ่งตัว TOYOTA Vigo ก็เช่นกันขาไปในการทดสอบใช้ดีเซลล้วนๆ กิโลเมตรละ 3.20 บาท ขากลับดีเซลบวก LPG เหลือ 1.80 บาท

 

บทสรุปถ้าเราจะมองแบบง่ายๆ คือ การติดตั้งระบบแก๊สในเครื่องยนต์ดีเซลประมาณชุดละ 35,000 บาท เราใช้รถไปสองหมื่นกว่ากิโลเมตรก็ได้ค่าติดตั้งคืนแล้ว ที่เหลือ คือ กำไรของผู้ใช้แล้วล่ะครับ ส่วนเรื่องติดตั้งแล้วจะพังหรือไม่ ถ้าเครื่องยนต์ของคุณมาแบบสมบรูณ์ ก็จะกลับไปใช้งานแบบสมบรูณ์ แต่ผมก็ยังไม่ให้คะแนนเต็มร้อยนัก เพราะระบบยังต้องอาศัยผู้ขับขี่อยู่บ้าง หากคุณมีนิสัยเหยียบคันเร่งแรงๆ จมๆ มันก็คงจะเปลืองอยู่ดีครับ ด้วยเหตุผลว่าเซ็นเซอร์จะคำนวนการจ่ายแก๊สมาจากคันเร่งด้วย แต่ถ้าคุณรู้จักวิธีการขับมันจะประหยัดแบบไม่น่าเชื่อ ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการคงความเร็วที่ 120 กม./ชม. เราก็ค่อยๆเร่งความเร็วไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเหยียบคันเร่งจม แป๊ปเดียวก็ 120 กม./ชม. เพราะเครื่องยนต์จะแรงกว่าเดิมพอสมควร พอได้ความเร็วที่ต้องการแล้ว ค่อยๆ ถอดเท้าออกจากคันเร่งทีละน้อยจนความเร็วคงที่แล้วก็คงคันเร็วไปเรื่อยๆ คุณจะได้ความประหยัดที่มากกว่าเดิมมาก

 

สุดท้ายต้องขอบคุณ บริษัท ทีโอ จำกัด ผู้นำด้านพลังงานทดแทนของเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ “AC Autogaz” ที่ให้เราได้พิสูจน์นวัตกรรมดีๆ ฝีมือคนไทยแบบนี้ครับ

 


บทความแนะนำ

กลุ่มพลังงานไทยเข้าเยี่ยมชมกิจการพลังงานใหม่ ( New Energy ) ของ โฟตอน มอเตอร์

เชลล์ ( Shell )ฉลองความสำเร็จนักศึกษาไทย ฮีโร่แห่งวงการพลังงาน

โหด มัน ฮา แรลลี่อนุรักษ์พลังงานกับ AC Autogaz