รีวิว : NISSAN Sylphy ( นิสสัน ซิลฟี ) เส้นทาง เชียงใหม่ – ลำพูน พร้อมเยี่ยมเยือนแหล่งวัฒนธรรม
เปิดตัว NISSAN Sylphy ( นิสสัน ซิลฟี ) ไปเพียงแค่ 1 อาทิตย์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้จัดกิจกรรมการทดสอบรถยนต์ NISSAN Sylphy ( นิสสัน ซิลฟี ) เส้นทาง เชียงใหม่ – ลำพูน เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสสมรรถนะของการขับขี่ที่นุ่มนวล ความกว้างขวาง เงียบและสะดวกสบายจากอุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร พร้อมเยี่ยมเยือนแหล่งวัฒนธรรม เข้าคอนเซ็ปของการเดินทางเพื่อความสุนทรีย์ของการใช้ชีวิตได้อย่างแท้จริง
บินลัดฟ้าสู่เจียงใหม่
เมื่อทุกอย่างพร้อมคณะสื่อมวลชนทุกท่าน บินลัดฟ้าสู่เมืองเชียงใหม่ เพื่อเริ่มต้นการทดสอบ โดยก่อนจะออกเดินทางได้ฟังบรรยายสรุปถึงตัวผลิตภัณฑ์ NISSAN Sylphy ที่มีรูปลักษณ์งามสง่าทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้าย ผมขอยกข้อเด่นๆ มาเล่าให้ฟังแล้วกันน่ะครับ
ขนาดตัวถัง
NISSAN Sylphy มีขนาดตัวถังใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ในระดับเดียวกัน และยังได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ท ให้มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่ต่ำเพียง 0.29 มีพื้นที่บริเวณกระจกหน้ากว้างช่วยให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ดี
ชุดไฟหน้าแบบ Multi-reflector พร้อมไฟแบบ LED ที่ได้ติดตั้งทั้งในตำแหน่งไฟหรี่ด้านหน้า พร้อมชุดไฟท้าย และไฟเบรคดวงที่สาม ห้องโดยสารภายในที่กว้างที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์นั่งระดับกลางของค่ายอื่นๆ และพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถที่มีขนาดความจุมากถึง 510 ลิตร ซึ่งกว้างกว่า Teana เกือบ 10 ลิตร ล้ออัลลอยขนาด 16 นิ้ว สีภายในแบบเบจโทน และบริเวณคอนโซลออกแบบให้ใช้ง่ายตามหลักสรีระศาสตร์หรือ Ergonomic design ใช้วัสดุคุณภาพสูงที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีพิเศษ Micro-grain เพื่อลดแสงสะท้อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น พวงมาลัยมัลติฟังค์ชั่นแบบ 3 ก้าน ปรับได้ 4 ทิศทางหุ้มหนัง พร้อมระบบพวงมาลัยไฟฟ้า (EPS) ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติแยกปรับอุณหภูมิอิสระได้ซ้าย –ขวา และช่องแอร์ด้านหลังสำหรับผู้โดยสารด้านหลัง
ระบบนำทาง Navigation system
สำหรับรุ่น 1.8V Navi เพิ่มเติมระบบนำทาง Navigation system บนหน้าจอ 5.8 นิ้ว สะดวกสบายด้วยฟังก์ชั่นการค้นหาสถานที่ กล้องมองหลังมองได้ไกลถึง 3 เมตร ระบบกุญแจอัจริยะ Intelligent key พร้อมปุ่มเปิดท้ายรถและระบบ Immobilizer และ Panic alarm กระจกมองข้างพับเก็บอัตโนมัติเมื่อล็อครถ และปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push start button
เครื่องยนต์
การทดสอบครั้งนี้ ทาง NISSAN จัดเตรียมรถทดสอบเฉพาะเครื่องยนต์ เบนซิน 1.8 ลิตร จำนวน 10 คัน ผมขอกล่าวถึงเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร รหัส MRA8DE ก่อนน่ะครับ เครื่องยนต์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเพิ่มช่วงชักกระบอกสูบผสานไปกับการทำงานของระบบวาล์วแปรผันคู่ Twin C-VTC (Twin Continuously-Variable Timing Control) เพิ่มระยะชักกระบอกสูบให้ยาวขึ้นทั้งฝั่งไอดีและไอเสีย เพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเคลือบแข็งระบบสปริงวาล์ว Diamond-like carbon coating ช่วยลดน้ำหนัก แรงเสียดทานและแรงเฉื่อยของวาล์ว เสริมประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ เงียบขึ้นและประหยัดน้ำมันมากขึ้น ความจุกระบอกสูบ 1,798 ซีซี แรงม้าสูงสุด 131 แรงม้าที่ 6000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 174 นิวตัน-เมตรที่ 3600 รอบต่อนาที ระบบขับเคลื่อนแบบ XTRONIC CVT
พร้อมเทคโนโลยี Pure Drive Technology เทคโนโลยีแห่งอนาคต
เพื่อให้อากาศสะอาด เพื่อคุณ เพื่อโลก นิสสัน มีความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาเครื่องยนต์ที่ช่วยลดมลพิษในอากาศ ระบบช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็คเฟอร์สัน สตรัท และระบบช่วงล่างด้านหลังทอร์ชั่น บีม พร้อมเหล็กกันโคลง ระบบเบรกป้องกันล้อล็อค (ABS) ระบบเสริมแรงเบรก (BA) และระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ช่วยลดระยะเบรกลงได้ 10-15 เปอร์เซ็นต์
เริ่มต้นการทดสอบ
น้องใหม่จากค่ายนิสสันคันนี้ ออกมาเพื่อทดแทน NISSAN Tida และเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในพิกัด 1.6-1.8 ลิตร ซึ่งนิสสันยังขาดอยู่หลังจากปิดไลน์การผลิตของ Tida และเรื่องการตอบรับต้องบอกว่าทำได้เยี่ยม เพียงแค่อาทิตย์เดียวมียอดจอง Sylshy ไปแล้วเกือบ 1,000 คัน ส่วนรถที่ผมใช้ทดสอบเป็นรุ่น 1.8 V CVT ในสายตาผมสำหรับการออกแบบถือว่าเป็นรถขนาดกลางที่มีรูปลักษณ์หรูหรามาก มีขนาดใหญ่ โดดเด่นตรงไฟหน้าและไฟท้าย นอกจากนั้นยังใส่ DNA ของความภูมิฐานที่นิสสันมักจะผสมผสานในการออกแบบในทุกๆ รุ่น เปิดมาที่ภายใน ผมขอลองเข้าไปนั่งที่เบาะด้านหลังก่อน เพราะอยากลองสัมผัสความกว้างขวางที่เป็นจุดเด่นในรุ่นนี้ ซึ่งเมื่อสัมผัสแล้วต้องยกให้ว่า เป็นรถระดับกลางที่มีภายในกว้างที่สุดในพิกัดเดียวกัน ขยับมาที่นั่งคนขับเพื่อออกเดินทาง การออกแบบเรียบง่ายตามสไตล์นิสสัน แต่จัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอสีขนาด 4.3 นิ้ว ที่สามารถแสดงภาพจากกล้องส่องหลังได้ด้วย ระบบปรับอากาศแยกอิสระซ้าย-ขวา เล่นซีดี 1 แผ่นและเครื่องเล่น MP3 และช่องต่อ AUX และอุปกรณ์เชื่อมต่อ USB บริเวณช่องเก็บของ ระบบกุญแจอัจริยะ Intelligent key และปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ Push start button
ระบบเกียร์
เมื่อกดปุ่ม Start เครื่องยนต์ต้องบอกว่าเงียบมาก เมื่อเริ่มออกเดินทางในเส้นทางของ จ.เชียงใหม่-ลำพูน เป็นถนน High Way ที่สามารถทดสอบอัตราเร่งได้ดี ผมลองกดคันเร่งใช้ความเร็ว การตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ผสมผสานกับระบบเกียร์แบบ CVT ทำงานได้ลงตัว นอกจากความเร็วจะไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วนั้น จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ยังทำได้ราบรื่นไม่มีสะดุดให้เสียอารมณ์รถหรู แต่ที่ผมประทับนั้น เป็นเรื่องความเงียบของภายในห้องโดยสาร เพราะขนาดผมใช้ความเร็ว 160-170 กม./ชม. ในการเดินทาง เรื่องการเก็บเสียยังทำได้ในระดับที่น่าพอใจมาก
อัตราเร่ง
หลังจากถึงที่หมาย ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน ไหว้พระเพื่อเป็นสิริมงคลกันทุกคนแล้ว เราก็มุ่งหน้าสู่เขื่อนแม่งัด เพื่อปรับเส้นทางให้เป็นถนนแบบสองเลนสวนทางกัน ซึ่งมีทางโค้งค่อนข้างมาก เราเริ่มทดสอบในเรื่องของอัตราเร่งแซง และระบบช่วงล่าง เรื่องอัตราเร่งแม้จะเป็นทางขึ้นเขา แต่เจ้าเครื่องบล็อค 1.8 ลิตร ก็สามารถตอบสนองในเรื่องของอัตราเร่งที่เหลือเฟือในการขับแซงรถคันอื่นๆ ส่วนในเรื่องของระบบช่วงล่างความนิ่มนวลในการเดินทาง เรื่องนี้ “กด Like” ให้เลยครับ ส่วนสมรรถนะในการเข้าโค้งอยู่ในเกณฑ์ที่ไว้ใจได้
อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน
แต่ส่วนตัวของผมรู้สึกว่า การแปรผันของน้ำหนักพวงมาลัยในความเร็วสูงมีน้ำหนักที่เบาไปหน่อย ทำให้เวลาที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงทำให้รู้สึกไม่มั่นใจมากนัก ทั้งๆ ที่ช่วงล่างยังสามารถเกาะถนนเข้าโค้งไปได้ ส่วนเบรกหยุดสนิทมั่นใจไม่มีอะไรต้องกังวล ขากลับเรามาชมวัฒนธรรมกรุงเก่าที่เวียงกุมกาม ก่อนที่จะขับตระเวณไปรอบเมือง โดยมีรถตำรวจขับนำทางอำนวยความสะดวกให้ ตลอดทั้งทริปผมขับเร็วบ้างช้าบ้าง แต่เฉลี่ยความเร็วอยู่ที่ 100-120 กม./ชม. ผมดูจากหน้าจอ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันยังสามารถทำได้ 14.4 กม./ลิตร ซึ่งทางนิสสันเองการันตีไว้ที่ 14.9 กม./ลิตร จุดนี้ผมมองว่าประหยัดใช้ได้เพราะในการทดสอบครั้งนี้เป็นการใช้งานจริงขับตามนิสัยของแต่ละท่าน ซึ่งผมถามจากท่านอื่นๆ ก็อยู่ประมาณ 14 กม./ลิตร กันทุกคน
สุดท้ายต้องขอบคุณ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เรา iAMCAR VARIETY e-MAGAZINE ได้สัมผัสนวัตกรรมยานยนต์ดีๆ แบบนี้เสมอมาครับ
บทความแนะนำ
รีวิว : All-New NISSAN Teana 2013 ( นิสสัน เทียน่า )บนเส้นทางตรัง-สิเกา ระยะทางประมาณ 150 กม.