Toyota Asia ชูวิสัยทัศน์ “การขับเคลื่อนแห่งอนาคตสำหรับเอเชีย” ในงาน Japan Mobility Show 2023
Toyota Asia ส่งทัพยนตรกรรมตรึงพื้นที่งาน Japan Mobility Show 2023 ภายใต้แนวคิด “ร่วมพลิกโฉมอนาคตแห่งยานยนต์ — Find Your Future” นำเสนอจิตวิญญาณแห่ง “การสืบสาน และวิวัฒนาการ”
โดยในแง่ของการสืบสาน โตโยต้า จะยังคงมุ่งมั่นเป็นบริษัทที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด (Product Centered) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในแต่ละภูมิภาค (Region Based) มุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ผ่านการนำเสนอหลากทางเลือกด้านเทคโนโลยี เพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเพิ่มคุณค่าของการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
ภายใต้แนวคิดสำคัญ คือ “ความเป็นกลางของคาร์บอน” และ “การเพิ่มคุณค่าของการขับเคลื่อน” ซึ่งทาง โตโยต้า ได้วาง “คอนเซปต์ของการขับเคลื่อน” อย่างพิถีพิถัน โดยมีเสาหลักสำคัญ ได้แก่ การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification), การสร้างความหลากหลาย (Diversification) และการเสริมความอัจฉริยะ (Intelligence)
ซึ่ง “การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification)” ทางโตโยต้า ได้มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi – Pathway” ผ่านการพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของลูกค้า และสำหรับภูมิภาคเอเชียที่มีหลายปัจจัยอันส่งผลกระทบต่อเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
โดยทาง โตโยต้า ได้นำเสนอแนวทางที่มีความเป็นไปได้ บนพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ, พลังงาน, โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้งานจริง ผ้านการนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และพลังงานทางเลือกหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความแพร่หลายของการใช้งาน และการใช้งานในทันที
ด้าน “การสร้างความหลากหลาย (Diversification)” ทางภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง และ โตโยต้า ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างทางเลือกที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ให้ครอบคลุมทางเลือกในทุกระดับราคา และทุกเซกเมนท์ ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคลไปจนถึงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
ซึ่งในทวีปเอเชีย โครงการ IMV (Innovative International Multipurpose Vehicle) รถยนต์รุ่น ไฮลักซ์ (Hilux) และ อินโนวา (Innova) ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ โตโยต้า เพื่อเติมเต็มความหลากหลาย นับตั้งแต่โครงการ IMV ที่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2547 และสามารถตอบสนองความต้องการด้านการขับเคลื่อนให้กับผู้ใช้งาน ทั้งรูปแบบส่วนบุคคล และในเชิงธุรกิจ ตลอดจนช่วยส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการส่งออก อันมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และวัตถุประสงค์ระดับชาติ
ปัจจุบัน โตโยต้า มีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ IMV 0 ซึ่งออกแบบมาสำหรับลูกค้าที่กำลังมองหารถที่มีราคาสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย ตัวรถยังสามารถปรับแต่งได้หลากหลาย ช่วยแก้ปัญหาด้านการเข้าถึงการขับเคลื่อนและมาตรฐานชีวิตลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ โตโยต้า ยังมองหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับการขับเคลื่อนทางเลือกอื่น เพื่อให้ทุกคน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีความบกพร่องทางร่างกายสามารถเข้าถึงได้ ทั้งยังมุ่งหน้าสร้างการขับเคลื่อนตามหลักการที่ว่าเราจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และมอบทางเลือก ‘การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน (Mobility for All)’ ที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้า
ท้ายสุด การเสริมความอัจฉริยะ (Intelligence) คือ การใช้เทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อ และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านการขับเคลื่อน และโครงสร้างพื้นฐาน โดย โตโยต้า ได้พัฒนาทางเลือกใหม่ด้านการเดินทาง และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้ารายบุคคล และลูกค้าองค์กร เช่น การแนะนำพฤติกรรมของผู้ขับขี่, การติดตามการโจรกรรม หรือการหาข้อมูลเส้นทางที่ดีที่สุด
ซึ่งทางเลือกใหม่ๆ เหล่านี้ยังสามารถบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานได้ เช่น วงจรการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ อาทิ สัญญาณไฟจราจร ที่ โตโยต้า ตระหนักดีว่าการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอน
และทั้งหมด การใช้พลังงานไฟฟ้า – การสร้างความหลากหลาย – และการเสริมความอัจฉริยะ องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบนิเวศแบบบูรณาการ เพื่อตอบโจทย์ด้านความเป็นกลางของคาร์บอน และความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป
ในประเทศไทย โตโยต้า ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อมุ่งสู่ฝันของชาวไทย (Thai Dream trial project) ร่วมกับภาคีอื่นๆ ใน Commercial Japan Partnership Technology (CJPT) เช่น อีซูซุ และฮีโน่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล และไอทีของประเทศไทย
ภายใต้ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมกัน อย่างบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (เอสซีจี) ภายใต้แผนที่จะแนะนำทางเลือกใหม่ในลักษณะเดียวกันที่บูรณาการการใช้พลังงานไฟฟ้า การสร้างความหลากหลาย และการเสริมความอัจฉริยะ สำหรับประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
มร. มาซาฮิโกะ มาเอดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภาคพื้นเอเชีย กล่าวย้ำว่า “โตโยต้า ริเริ่มพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้ามาเป็นเวลานานแล้ว และได้พัฒนาเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์มากมาย เช่น HEV และ FCEV นอกเหนือจากนั้น เรายังได้เสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับลูกค้าทุกรูปแบบ ดังจะเห็นได้จากรถยนต์ภายใต้โครงการ IMV และคอนเซปต์คาร์ IMV0
ทั้งนี้เราตระหนักว่าการพัฒนาแนวคิดหลักในการขับเคลื่อนของโตโยต้า จำเป็นต้องบูรณาการการใช้พลังงานไฟฟ้า การสร้างความหลากหลาย และเสริมสร้างความอัจฉริยะ เพื่อทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนขึ้นได้จริง และมอบคุณค่าที่แท้จริงสำหรับการขับเคลื่อน โตโยต้า ตระหนักด้วยว่าเราไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้โดยลำพัง และเราต้องการให้ “ทุกคนร่วมเดินไปพร้อมๆ กันกับเรา”