รีวิว : All New Toyota Vios ( ออล นิว โตโยต้า วีออส ) สัมผัสสมรรถนะที่แท้จริงว่าจะเยี่ยมสมกับความคำว่า “World Premiere in Thailand” ในเส้นทางกรุงเทพฯ – ชะอำ ระยะทาง 160 กม.

กว่าจะผ่านวิกฤติข่าวต่างๆ มาเปิดตัวในมอเตอร์โชว์ 2013 ถือว่าหนักหนาพอสมควร แต่คราวนี้เป็นการพิสูจน์ตัวตนของ All New Toyota vios ( ออล นิว โตโยต้า วีออส ) ว่าจะมีศักยภาพเพียงใด ทีมวิศวกรจะพัฒนาออกมาในทิศทางที่ดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน ทาง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงจัดการทดสอบเพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสสมรรถนะที่แท้จริงว่าจะเยี่ยมสมกับความคำว่า “World Premiere in Thailand” ในเส้นทางกรุงเทพฯ – ชะอำ ระยะทาง 160 กม. ตามไปพิสูจน์กันครับ

 

 

การทดสอบ ออล นิว วีออส

ครั้งนี้เป็นเส้นทางสั้นๆ กรุงเทพฯ – ชะอำ ประมาณ 160 กม. แต่มีการปรับใช้ถนนสายรอง เพื่อให้มีเส้นทางการทดสอบหลากหลายรูปแบบ ก่อนจะไปทดสอบไปรู้จัก ออล นิว วีออส ก่อนครับ ในรุ่นนี้ถือเป็นเจนเนอร์ชั่นที่ 4 ไล่มาจาก Soluna ปี 1997, Soluna Vios ปี 2002, Vios ปี 2007 จนมาถึงปัจจุบันมีการการปรับเปลี่ยนภายนอกใหม่หมด ตั้งแต่มิติตัวรถความยาว 4,410 มม. ความกว้าง 1,700 มม. ความสูง 1,475 มม. และฐานล้อ 2,550 มม. เรื่องของการดีไซน์ความงดงามที่แสดงออกจากเส้นสายตัวรถ ถือว่าเป็น Vios ที่มีการพัฒนาให้หรูหราขึ้นมาก แต่สิ่งที่วิศวกรใส่ใจมากขึ้นเป็นส่วนของค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานมากกว่า โดยปรับกระจังหน้าให้มีขนาดเล็ก ใส่อุปกรณ์พิเศษไว้ใต้ท้องรถเพื่อให้อากาศไหลออกด้านท้ายได้เร็วมากขึ้น จึงทำให้ ออล นิว วีออส มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานเพียง 0.286 cd ถือเป็นการใส่หลักอากาศพลศาสตร์เข้าไปในการออกแบบได้ยอดเยี่ยมมาก เพราะด้วยตัวเลขที่ออกมาของค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานดีกว่ารถสปอร์ตราคา 20 ล้านบ้างรุ่นอีก แถมการออกแบบครีบที่ข้างเสา A จุดยึดกระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวยังใส่ Aero Technology ซึ่งเป็นลักษณะครีบปรับทิศทางของอากาศให้หมุนวนในลักษณะเป็นเกลียวเข้ามากดด้านข้างของตัวถังทั้งสอง ด้าน ทำให้เวลาที่วิ่งด้วยความเร็วตัวรถจะนิ่งขึ้น อีกส่วน คือ ไฟท้ายมีครีบปรับองศาของอากาศ แต่องศานั้นเป็นการกดอากาศให้ตัวรถลงเพื่อเพิ่มการยึดเกาะที่ดีขึ้น

เครื่องยนต์ 1NZ-FE DOHC 16 วาล์ว VVT-I

เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังยังคงเดิม 1NZ-FE DOHC 16 วาล์ว VVT-I ความจุกระบอกสูบ 1,497 ซีซี. แรงม้าสูงสุด 109 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 141 นิวตัน-เมตร มาตรฐานไอเสีย ยูโร 4 ระบบส่งกำลังอัตโนมัติ 4 สปีด ECT Super จากการที่ได้ถามจากวิศวกรว่าทำไมถึงยังไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์ เพราะใช้มานานแล้ว ทางวิศวกรญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า 1 NZ-FE เป็นเครื่องยนต์ที่สามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ใส่เทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มเข้าไปก็สามารถสู้กับคู่แข่งได้อย่างสบาย

 

ภายใน

ภายในอย่างแรกที่สัมผัสได้ คือ กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยการลดขนาดของคอนโซลหน้าลง ลดขนาดของกล่องเก็บของหลังเกียร์ลง จัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้เข้าที่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นำเอาความสปอร์ตมาผสมกับความหรูหรา โดยย้ายเรือนไมล์จากที่เคยอยู่ตรงกลางมาไว้ที่หลังพวงมาลัยหุ้มหนังแบบสปอร์ต ซึ่งภายในเรือนไมล์มีจอแสดงข้อมูลการขับขี่ MID (Multi information Display) สามารถแสดงระยะทางรวม อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ระยะทางที่ขับได้จากน้ำมันที่เหลืออยู่ในถัง ความเร็วเฉลี่ย และที่สำคัญยังมีไฟแสดงข้อมูลการขับขี่ ECO เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถเรียนรู้การใช้เชื้อเพลิงได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด มีระบบ Push Start ในรุ่น S Grade ส่วนชุดเครื่องเสียงรองรับ CD MP3 และ WMA 1 แผ่น มีช่องเสียบ USB & AUX ระบบปรับอากาศแบบอัตโนมัติพร้อมจอ LCD แสดงผล ความโดดเด่นคงเป็นที่เบาะนั่งคู่หน้าที่สามารถปรับได้หลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับสรีระของผู้ขับขี่ พร้อมทั้งเว้าเบาะด้านหลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่ระหว่างเบาะหน้ากับเบาะหลังอีก 10 มม.

 

 ระบบช่วงล่าง

ระบบช่วงล่างแม้จะเป็นพื้นฐานเดิม แต่มีการเพิ่มเหล็กค้ำตัวถัง 3 จุด คือ กลางรถ ด้านซ้าย – ขวาที่หน้าล้อหลัง ช็อคอัพมีการปรับความหนึดของการคืนตัวเพิ่มขึ้น พวงมาลัยแบบพาวเวอร์ไฟฟ้า ESP ระบบเบรกเป็นดิสก์ 4 ล้อ พร้อม ABS, EBD และ BA

อัตราสิ้นเปลือง Toyota Vios

ทราบข้อมูลเบื้องต้นกันไปแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลง คราวนี้ก็ถึงเวลาออกไปทดลองสมรรถนะการขับขี่กันดีกว่า ทางโตโยต้าจัด ออล นิว วีออส ไว้ 16 คันแบ่งเป็นรุ่น S และ G Grade ในการทดสอบช่วงแรกเป็นการวิ่งบน High Way โดยมีรถนำขบวนเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วบังคับอยู่ประมาณ 110 กม./ชม. ทำให้ผมไม่สามารถเรียกสมรรถนะเครื่องยนต์ออกมาได้มากนัก ทำได้แค่ขับตามๆ กันไปเป็นขบวน แต่สิ่งแรกที่สังเกตได้ คือ เรื่องอัตราการใช้เชื้อเพลิงที่หน้าจอแสดงผลอยู่ที่ 16.2 กม./ลิตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นกว่ารุ่นเดิม และยังตรงกับตัวเลขการใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ย 16 กม./ลิตร ที่วิศวกรแจ้งไว้ ความเร็วจาก 0-100 กม./ชม. ใช้เวลา 11.4 วินาที ซึ่งช้ากว่าเดิมที่ทำได้ 11.3 วินาที ที่อัตราเร่งช้ากว่าเดิมเพราะ ออล นิว วีออส ต้องการให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่น้อยลง ส่วนความเร็วปลายอยู่ที่ 178 กม./ชม. ซึ่งเป็นตัวเลขจากวิศวกรญี่ปุ่นแจ้งไว้ ส่วนความนิ่มนวลในการขับขี่ ถือว่าดีมาก

 

โครงสร้างตัวถัง

พอเข้าช่วงที่ 2 เป็นทางโค้งส่วนใหญ่ ในการออกแบบโครงสร้างตัวถังที่ได้เพิ่มความหนาในตำแหน่งที่สำคัญ เพิ่มจุดเชื่อมตัวถังอีกกว่า 100 จุด และเพิ่มเหล็กค้ำตัวถังอีก 3 จุด ทำให้ช่วงล่างเดิมที่นำมาใช้เปลี่ยนสภาพแบบติดปีก การทรงตัวในทางโค้งดีขึ้นชัดเจน ประกอบกับพวงมาลัยไฟฟ้า EPS ที่สามารถแปลผันตามความเร็วได้อย่างเหมาะสม ทำให้การบังคับทิศทางเป็นไปได้อย่างแม่นยำ ควบคุมง่าย ยิ่งเวลาเข้าโค้งด้วยความเร็วน้ำหนักพวงมาลัยจะหนักมากขึ้นเล็กน้อย ทำให้สร้างความมั่นใจในการเข้าโค้งสูง แต่ในเรื่องการออกแบบตำแหน่งพวงมาลัย รู้สึกว่าชิดกับเรือนไมล์ในสไตล์สปอร์ตมากไปสักนิด และก็ไม่สามารถปรับเข้า – ออกได้ ปรับได้แต่สูง – ต่ำ ทำให้หาตำแหน่งการขับขี่ที่ถนัดยากไปสักหน่อย อีกส่วนที่น่าสนใจ คือ รีโมทกุญแจสามารถลดเสียง หรือปิดเสียง เวลาเปิด-ปิด ได้ หรือสามารถยกเลิกคลื่นรีโมท ไม่ให้ส่งผลไปกระทบกระเทือนผู้บริโภคที่เป็นโรคหัวใจ โดยการเอารถเข้าไปปรับจูนที่ศูนย์บริการทั่วประเทศ

 

ขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ให้ iAMCAR มีโอกาสได้สัมผัสนวัตกรรมดีๆ เช่นนี้เสมอมา พบ All New TOYOTA Vios ได้แล้วทุกโชว์รูมของโตโยต้าทั่วประเทศ


บทความแนะนำ