“การโอนรถ” เรื่องง่ายๆ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ
ทรัพย์สินที่มีมูลค่า มีเจ้าของ เมื่อทำการซื้อ-ขาย ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้อง “โอน” เปลี่ยนมือเจ้าของไม่ว่าจะเป็นบ้าน, ที่ดิน หรือแม้กระทั่ง “การโอนรถ” ที่มักจะมีปัญหากันบ่อยที่สุด จนกระทั่งมีปัญหาเป็นคดีไม่ยอมความกันก็มีมากมายให้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “โอนลอย”
“การโอนรถ” ทำได้ง่ายๆ แค่ 2 วิธี
สำหรับการซื้อ-ขาย ทรัพสินย์ที่ต้อง “โอน” กรรมสิทธิ์ หลักๆ ก็มีอยู่แค่ 2 ประเภทเท่านั้น คือ “การโอนตรง” และ “การโอนลอย” ซึ่งทั้ง 2 แบบจำเป็นต้องใช้เอกสารประกอบการทำธุรกรรมเหมือนๆ กัน โดยจะประกอบด้วย
- เอกสารคู่มือจดทะเบียนรถ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถ (ในกรณีเจ้าของรถเสียชีวิตต้องใช้สำเนาใบมรณบัตร หรือ ในกรณีโอนมรดกต้องนำคำสั่งศาล หรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา และในกรณีเป็นนิติบุคคล ต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม)
- กรณีผู้โอน และ/หรือ ผู้รับโอนไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง ให้นำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ
- สัญญาซื้อขาย พร้อมใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอน และรับโอน ซึ่งลงรายละเอียด พร้อมลงลายมือชื่อผู้โอน และผู้รับโอน
ขั้นตอนการ “โอน” ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก
- ยื่นเอกสารที่กรอกแบบฟอร์มคำขอ และรับโอนที่ส่วนงานทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานขนส่งพื้นที่ ที่ผู้โอน มีที่อยู่ปรากฎในใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือที่ขอแจ้งใช้รถไว้
- นำรถเข้ารับการตรวจสภาพ ที่สำนักงานขนส่งพื้นที่นั้นๆ
- และเมื่อตรวจสภาพรถเสร็จ ก็ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ พร้อมชำระค่าธรรมเนียมที่งานทะเบียนรถ
- สุดท้ายก็รับคู่มือจดทะเบียนรถ, ใบเสร็จ, เครื่องหมายเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนรถ
โดยเอกสาร และขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่ง่ายมาก หากผู้ซื้อ และผู้ขาย มีเวลาว่างเพื่อนัดไปทำธุรกรรมกันให้เสร็จสรรพที่สำนักงานขนส่ง เพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่ต้องมาแบกความเสี่ยงเรื่องปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมา แต่เมื่อภาระกิจรัดตัวจนหาเวลาว่างไม่ได้ “การโอนลอย” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมใช้กันในปัจจบัน
“โอนลอย” ไม่ใช่เรื่องยาก แต่มาพร้อมความเสี่ยง
“การโอนลอย” คือ การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ลงมือดำเนินการตามขั้นตอนในการ “โอน” ด้วยตัวเอง พร้อมกับมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมเซ็นต์ชื่อเป็นที่เรียบร้อย ส่งมอบให้กับผู้ซื้อเพื่อไปดำเนินการต่อเองตามขั้นตอนที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย แต่นี่แหละตัวสร้างปัญหา เพราะไม่รู้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะ “เดือดร้อน” ตอนไหน
เพราะหากผู้ซื้อยังไม่ดำเนินการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ให้เรียบร้อย และนำรถไปขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากเป็นฝ่ายผิดด้วยล่ะก็ กฏหมายจะดำเนินการกับผู้ที่มีชื่อถือครองกรรมสิทธิ์รถคันดังกล่าวเป็นอันดับแรก หรือหาก “ซวยสุดๆ” ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ที่มีชื่อถือครองกรรมสิทธิ์ ก็คือ บุคคลที่เจ้าพนักงานจะไปเคาะประตูหน้าบ้านเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน
และถ้าหากผู้ซื้อ “ดอง” เรื่องไว้จนเอกสารหมดอายุ ก็ต้องเสียเวลาในการทำเรื่องใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง เพราะการโอนกรรมสิทธิ์รถต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันโอน แถมยังเสียเงินด้วย เพราะหากไม่ดำเนินการภายในกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ฉะนั้นจะซื้อ จะขาย ด้วยวิธี “โอนลอย” หากอยากได้ความสบายใจ แนะนำว่า “ควรดูให้ดี” ซึ่งถ้าเลือกได้ ก็เน้นคนที่รู้จัก ตรวจสอบประวัติได้ชัดเจนไม่ว่าจะที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงาน เพื่อ “กันพลาด” แต่ถ้าไม่ “เหลือบ่ากว่าแรง” จริงๆ ก็จูงมือกันไปทำธุรกรรม พร้อมกันทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายดีกว่าครับ รับรองอุ่นใจแน่นอน