โดน Finance “ยึด” แล้ว … ต้องทำไง เพื่อไปต่อ … ?
ครั้งหนึ่งเราเคยนำเสนอกันไปแล้วว่า “มีเวลา” เหลือเท่าไหร่ ก่อนที่ Finance จะมา “ยึดรถ” เพราะดันค้างค่างวดมาเต็มพิกัด แต่ถ้าจำไม่ได้ล่ะก็งั้นมาลอง “ทวน” ดูอีกแล้วกัน
โดยข้อมูลจาก “สคบ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การเข้ายึดรถ” ผู้เช่าซื้อจะต้องค้างชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน และมีจดหมายแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้าอีก 30 วัน จึงจะสามารถกระทำการยึดรถได้
เพราะถ้ายึดรถก่อนระยะเวลาดังกล่าวจะมีความผิดตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งคุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องสัญญา ดังนั้นผู้เช่าซื้อต้องอย่ายอมให้ยึดรถ และให้เรียกตำรวจมาเป็นพยานหากเราไม่ยินยอม เว้นแต่ผู้เช่าซื้อจะเซ็นต์เอกสารยินยอมให้ “ไฟแนนซ์” ยึดรถไป
เพราะงั้นสรุปง่ายๆ เลยว่าคุณมีเวลาถึงราว 4 เดือนทีเดียวในการแก้ปัญหาค้างชำระค่างวด แต่ถ้าจนแล้วจนรอด แก้ปัญหาไม่ได้ กระทั่งต้องเซ็นต์เอกสารยินยอมให้ “ไฟแนนซ์” มายึดรถไปล่ะจะทำยังไง
Finance ยึดต้อง “ทำใจ” แล้วว่ากันไปตาม “ขั้นตอน”
อันดับแรกเริ่มต้นด้วยการ “ทำใจ” และ “ตั้งสติ” เพราะก็เข้าใจว่าการสูญเสีย “ของรัก” ไปมันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีเท่าไหร่ แต่คุณก็ต้องยอมรับในความสามารถตัวเองในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตาม “เงื่อนไข” ของตัวสัญญา จนต้องถูก “ยึดรถ” ฉะนั้นหลังจาก “ทำใจ” ได้แล้วเรามาดูกันว่า “ผู้เช่าซื้อ” จะต้องเจอกับอะไรบ้าง หลังจากที่เซ็นต์ยินยอมให้ “Finance” ยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และยึดรถกลับไป
ข้อแรกเลย คือ “ไฟแนนซ์” มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย, ค่าสูญเสีย หรือ ค่าบุบสลายที่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือพูดง่ายๆ ว่า “สภาพรถ” ถ้าสมบูรณ์ก็รอดไป แต่ถ้ามีความ “เสียหาย” เกิดขึ้น “ผู้เช่าซื้อ” ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั่นแหละครับ
ข้อที่สอง “คืนรถไปแล้ว ก็ยังมีหนี้ได้” เนื่องจาก “รถ” ที่ถูกยึดไปแล้ว “ไฟแนนซ์” จะนำไปขายทอดตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ราคาจะ “ต่ำกว่า” เมื่อเทียบกับราคาของ “ผู้เช่าซื้อ” เพราะฉะนั้น “ไฟแนนซ์” จึงมีสิทธิ์ที่จะมาเรียกเก็บเพิ่มเติมใน “ส่วนต่าง” จาก “ผู้เช่าซื้อ” และอาจแถมด้วยค่าเสียหาย, ค่าขาดผลประโยชน์ ที่จะทำให้ “ผู้เช่าซื้อ” เสียเปรียบไม่น้อย
โดยหากผู้เช่าซื้อ ไม่จ่ายขั้นตอนต่อไปก็คือ เป็นกระบวนการฟ้องร้องที่ต้องว่ากันใน “ชั้นศาล” ซึ่งในขั้นตอนนี้ “ผู้เช่าซื้อ” สามารถติดต่อทนายได้ เพื่อแจ้งให้ศาลได้เห็นว่า “ค่าเสียหาย หรือ เบี้ยปรับ” สูงเกินไป และขอ “ลดหย่อน” ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 383
ที่ว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้” ซึ่งในการวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ศาลจะพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน จากนั้นคุณก็จะกลับมาอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้” อีกครั้ง ด้วยการทำสัญญา “ผ่อน” เป็นงวดๆ ไป และก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะ “ผิดนัดชำระ”
เพราะคุณมี “ความผิด” ติดกระเป๋าอยู่แล้วเป็นทุน ตั้งแต่ “ประวัติการชำระหนี้” ที่ไม่ค่อยจะดี และอาจส่งผลให้การกู้ขอสินเชื่อครั้งหน้าเป็นเรื่องยากขึ้น รวมถึงอีกคนที่ต้อง “เดือดร้อน” อย่างแน่นอน หากคุณ “บิดพลิ้ว” ไม่ไปชำระหนี้ ก็คือ “คนค้ำประกัน” เพราะเค้าคือคนต่อมาที่จะถูกฟ้องร้องให้ไปชำระหนี้ไงครับ
ฉะนั้นแล้ว เราจึงอยากแนะนำให้ “วางแผนทางการเงิน” ให้ดี ก่อนที่คิดจะมีรถซักคันดีกว่า เพราะใช่ว่าแค่ “ยึดรถ” แล้วเรื่องจะ “จบ” อย่างง่ายๆ แต่ที่อยากให้รู้ ก็เพราะจะได้ไม่ “เสียเปรียบ” ในฐานะ “ผู้เช่าซื้อ” เท่านั้น