หากต้องติด GPS รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จะเป็นอย่างไร
เป็นข่าวฮือฮามาก่อนหน้านี้ จากกรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผุดไอเดียให้ติด GPS รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลด้วย จึงเกิดเป็นกระแสดราม่าทั้งในโลกโซเชียล และสภากาแฟทั้งหลาย จนไอเดียนี้ถูกพับเก็บในแบบยังไว้เชิงของ รมว.กระทรวงคมนาคม
ย้อนกลับไป ไอเดียนี้บรรเจิดขึ้นมาจากการที่ ท่านรมว.กระทรวงคมนาคม เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะสามารถควบคุมความเร็วรถ และตรวจสอบข้อมูลการขับขี่ได้ เฉกเช่น รถสาธารณะที่ถูกบังคับใช้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุกรับจ้าง รถตู้โดยสาร และรถโดยสารขนาดใหญ่
โดยไอเดียที่ว่านี้เป็นเรื่องเป็นราว คิดและวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งหากว่าต้องติด GPS รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ก็จะเริ่มจาก รถใหม่ก่อน หากทำผิดก็จะโดนตัดแต้ม ไปจนถึงยึดใบขับขี่ ถ้ามากกว่านั้นอาจถึงขั้นถูกพักใช้รถคันนั้นไปเลย
ข้อดี ข้อเสีย หากจะต้องถูกบังคับ ติด GPS รถยนต์นั่งส่วนบุคคล
ข้อดี
- อาจจะช่วยลดเหตุร้ายลงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำของมิจฉาชีพ ทั้งการโจรกรรม อาชญากรรม และอื่นๆ
ข้อเสีย
- เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของรถแน่นอน ตั้งแต่อุปกรณ์ซึ่งต้องมีไม่น้อยกว่า 3,000 บาท ไหนจะต้องเสียค่ารายเดือนอีกไม่น้อยกว่า 300 บาท เป็นภาระของเจ้าของรถทั้งสิ้น
- เป็นการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะรัฐสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของใครๆ ก็ได้ที่ใช้รถคันนั้นอยู่ ซึ่งเป็นช่องว่างให้เกิดความไม่ไว้วางใจกับรัฐ
- การจำกัดความเร็ว (สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และมอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างตกผลึก แต่การทำให้ผู้ใช้รถปฏิบัติตามกฏจราจรนั้นสำคัญกว่า และยังช่วยบรรเทาปัญหารถติด
อย่างไรก็ตาม ไอเดียนี้ถูกผลักไปให้กรมขนส่งทางบก เป็นผู้ศึกษา รับผิดชอบโครงการ ยังไม่ถึงกับโยนทิ้งน้ำไปเสียทีเดียว โดยทางรัฐขอเวลาไปศึกษาทิศทางความเป็นไปได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี เมื่อผลการศึกษาออกมาแล้ว กรมการขนส่งทางบกจะทำหรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถึงเวลานั้นเราจะมีประเด็นนี้ให้พูดคุยกันอีกแน่นอน