เมื่อกระแสนิยมในไทยมาแรง ฉะนั้นมาทำความรู้จักซักนิดว่า … รถ Hatchback เป็นแบบไหน
ในปัจจุบันค่ายรถยนต์ แต่ละค่ายต่างๆ ผลิตรถยนต์โมเดลใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการอันมากมายของลูกค้า ดังจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่าง และหลากหลายของประเภทรถยนต์ที่มากขึ้น และรถสไตล์ Hatchback คือหนึ่งในประเภทยอดนิยม ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะค่ายรถยนต์ทั่วๆ ไปเท่านั้น หากแต่แบรนด์หรูดังๆ ก็ด้วยเช่นกัน
รถสไตล์ Hatchback
นอกจากการกำหนดในเรื่องของ Segment ของตัวรถแล้วที่แยกเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ขนาดกลาง (Mid-size Car) หรือขนาดใหญ่ (Full-size Car) แล้ว รูปแบบของตัวรถที่แยกย่อยออกไป ก็ยังเป็นอีกหัวข้อที่น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะกับตัวถังรถที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันที่เราจะนำมาเล่าให้ฟัง
โดยสมัยก่อนที่เห็นกันทั่วไปในท้องถนนหลักๆ ก็จะมีรถยนต์นั่ง Sedan 4 ประตู, รถ Coupe ก็ยังคงเป็นรถพิกัดเดียวกับ Sedan แต่มีแค่ 2 ประตู ส่วนประเภทต่อมา คือ Lift back ที่ยังเป็นรถพิกัดเดียวกับ 2 รุ่นก่อน และมีตัวถังคล้ายกับรถ Sedan ผสม Coupe แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ฝากระโปรงหลังของ Lift back จะเป็นชิ้นเดียวกับกระจกบังลมหลัง และลาดเอียงลงมาจนถึงด้านท้ายของรถ ส่วนเวลาที่เปิดก็จะยกขึ้นทั้งบาน ซึ่งในอดีตเราจะเคยเห็นกันมาบ้าง แต่ก็หายากเต็มทีในปัจจุบัน ในขณะที่พระเอกของเราตัวถังแบบ Hatchback ซึ่งมีความคล้ายกันกับตัวถัง Liftback ก็คือ ฝากระโปรงหลังจะเป็นชิ้นเดียวกับกระจกบังลมหลัง และเปิดแบบยกขึ้นทั้งบานเหมือนกัน ส่วนตัวถัง Hatchback จะต่างออกไป ก็คือจะไม่ลาดเอียงลงเหมือนตัวถัง Liftback แต่จะมีความ “ชัน” ขององศามากกว่า และตัดในด้านท้ายเป็นแนวตรงลงมา โดยจะมีทั้งรุ่นตัวถังที่เป็นแบบ 3 ประตู และ 5 ประตู ที่เป็นเลขคี่ก็เพราะมีฝาท้ายด้านหลังที่นับรวมเป็นอีก 1 ประตู อาทิ เช่น Honda Jazz, Toyota Yaris, Nissan Note เป็นต้น
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ณ ปัจจุบันการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานการออกแบบ เพื่อความทันสมัย และเอาใจลูกค้ามากขึ้น ทำให้การจำแนกประเภทของรถนั้นไม่ชัดเจนเท่ายุคสมัยก่อน ฉะนั้นถ้ามองรถยนต์นั่งที่รูปทรงตัวถังเป็นหลัก โดยด้านหลังมีความ “ชัน” ขององศา และตัดด้านท้ายเป็นแนวตรง ฝากระโปรงหลังเป็นชิ้นเดียวกับกระจกบังลมหลังจึงสามารถเรียกว่าเป็น “รถ Hatchback” ได้เช่นกัน
แต่ด้วยความหลากหลายของรถ ที่มีทั้งพื้นฐานแชสซีร์, ระบบขับเคลื่อน หรือ มิติตัวถัง เข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนความต้องการของแต่ละค่ายรถยนต์ที่ต้องการนำเสนอความพิเศษแบบ “เฉพาะเจาะจง” เพื่อสร้างความแตกต่าง ทำให้สิ่งเหล่านั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักการแยกประเภทรถยนต์ในปัจจุบันเช่นกัน