วิธีการ ซื้อ และ ใช้ Easy Pass กับ M-Pass
เมื่อขับขี่รถยนต์เข้าช่องด่วน หรือ ช่องทางพิเศษ ที่ต้องมีการเสียค่าผ่านทาง หลายคนมักจะมองตาปริบๆ เมื่อเห็นรถยนต์หลายต่อหลายคัน วิ่งผ่านช่องที่ใช้ Easy Pass หรือ M-Pass กันอย่างฉลุย โดยที่ไม่ต้องต่อแถวให้ยาวเหยียด ไหนคนที่ไม่มีเจ้าบัตร 2 แบบนี้ ยังจะต้องสาละวนหา เงินสด ไว้จ่ายค่าผ่านทางอีก เราไปดูกันว่าเค้ามี วิธีการ ซื้อหาเจ้าบัตรที่ว่านี้ได้จากไหน และใช้อย่างไร ไม่ให้เป็นภาระคันข้างหลัง รวมถึงการเติมเงินเมื่อ เงินร่อยหรอ
รู้จักกันก่อน Easy Pass คืออะไร M-Pass มาอย่างไร
เรามักจะติดปากกับการเรียก อีซี่พาส มากกว่า เอ็มพาส ก็เพราะว่า อีซี่พาส ถือกำเนิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากถูกนำมาใช้กับทางด่วนที่อยู่ข้างบน หรือลอยฟ้า ส่วน เอ็มพาส เป็นอีกผู้ให้บริการที่ถูกนำมาใช้กับทางด่วนมอเตอร์เวย์ ชลบุรี หรือวงแหวนกาญจนา
แต่ 2 เจ้านี้ ก็เชื่อมต่อกัน ไม่ว่าจะถือบัตรไหน ก็สามารถใช้ได้ทั้งทางพิเศษลอยฟ้า หรือจะเข้าวงแหวน มอเตอร์เวย์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกของผู้ใช้รถ
บัตรผ่านทางอัตโนมัติทั้ง 2 แบบ ซื้อ ได้ที่ไหน
สำหรับบัตรอัตโนมัติทั้ง 2 ชนิดนี้ เมื่อเวลาไปซื้อ ผู้จำหน่ายจะให้เรามา 2 อย่างด้วยกันคือ บัตรพลาสติกแข็ง ขนาดเท่านามบัตร หรือเท่ากับบัตร ATM แต่บางกว่า ไว้สำหรับ เติมเงิน และ TAG สำหรับติดหน้ากระจกรถ เพื่อเป็นตัวรับสัญญาณเวลาวิ่งผ่านช่องอัตโนมัติ
1. Easy Pass เป็นบัตรที่ได้รับความนิยมมากกว่า ผู้คนเรียกติดปากมากกว่า สามารถหาซื้อได้ที่
- อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางเฉลิมมหานคร / ฉลองรัช / บูรพาวิถี ได้ทุกด่านของทางด่วนที่ว่านี้
- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษศรีรัช บางด่าน
- สำนักงานใหญ่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ถนนพหลโยธิน
- จุดพักรถ ปั๊มน้ำมัน ปตท บางนา (ขาออก)
- ศูนย์บริการลูกค้า บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อโศกดินแดง
2. M-Pass เป็นบัตรที่ถือกำเนิดจากทางพิเศษมอเตอร์เวย์ ชลบุรี วงแหวนฯ ได้รับความนิยมน้อยกว่ามาก แต่ถ้าใช้ เอ็มพาส ก็สามารถขึ้นทางด่วนลอยฟ้าได้เหมือนกัน โดยจะมีจำหน่ายที่ ธนาคารกรุงไทย 120 สาขา ในเขตกรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา ชลบุรี ระยอง และนครนายก
วิธีการ ใช้บัตรผ่านอัตโนมัติ ทั้ง 2 แบบ
สำหรับคนที่สนใจจะมีบัตรทั้ง 2 ชนิด ไว้ใช้ ครั้งแรก จะต้องจ่ายเงิน เพื่อให้ได้บัตร และ TAG ติดหน้ารถ ในราคาขั้นต่ำ 1,000 บาท โดยไม่ต้องเสีย ค่าประกันความเสียหาย (แบบเดียวกับมัดจำอุปกรณ์) เนื่องจากถูกยกเลิกไปตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว
ฉะนั้น คนที่เริ่มอยากจะมี (ใช้) ครั้งแรก จึงจ่ายเพียงแค่ 1,000 บาท จากนั้นเมื่อจะเติมเงินเข้ากระเป๋า (เข้าบัตรนั่นแหละ) ต้องเติมขั้นต่ำ 500 บาท และสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท โดยกำหนดยอดคงเหลือในบัตร (พูดง่ายๆ ว่าขนาดกระเป๋าจุได้) ไม่เกิน 9,999 บาท สำหรับอีซี่พาส ส่วน เอ็มพาส ให้มากกว่าบาทนึง คือ 10,000 บาท
ช่องทางการเติมเงิน
- อีซีพาส จะสะดวกกว่า เนื่องจากมีหลายช่องทางให้เติมเงิน เช่น ตู้ ATM, อินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง, แอปพลิเคชั่นบนมือถือ โดยครอบคลุมเกือบทุกธนาคาร, เคาเตอร์เซอร์วิส 7-11 / โลตัส, แอปพลิเคชั่น Wallet by True Money และตัดเงินผ่านบัญชีธนาคาร เมื่อยอดเหลือต่ำกว่า 300 บาท โดยสมัครผ่าน www.easytopup.co.th ซึ่งมีค่าธรรมเนียมการเติม ครั้งละ 20 บาท ส่วนการเติมผ่านธนาคารช่องทางอื่นที่กล่าวมาข้างต้น มีค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 5 บาท ส่วนเคาเตอร์เซอร์วิส สูงสุด 10 บาท
- เอ็มพาส มีช่องทางเดียวคือ ธนาคารกรุงไทย แต่จะเลือกช่องทางย่อยของธนาคาร ก็เช่น ที่สาขาทำการ, ที่ตู้ ATM กรุงไทย, กรุงไทยเน็ตแบ้งค์กิ้ง และที่ตู้บุญเติม (ยกเว้นตู้หน้า 7-11, โลตัส และ BTS)
สำหรับคำแนะนำจากเรา หากอยากจะมีบัตรผ่านทางพิเศษอัตโนมัติไว้ใช้ ควรพิจารณาจากความสะดวกสบายในการเติมเงินเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ชีวิติง่ายขึ้น โดยการติด TAG ควรจะหันด้านที่แปะกาว 2 หน้าออก มิเช่นนั้นเซนเซอร์ที่หน้าช่องทางอัตโนมัติจะไม่อ่าน ซึ่งจะเป็นภาระให้กับคันหลังที่ตามมา