ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ทดสอบความแกร่ง ไทรทัน แรลลี่คาร์ พร้อมสู้ศึก เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022
ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ทดสอบความแกร่ง ไทรทัน แรลลี่คาร์
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น แถลงว่า ทีม มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจาก มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประสบความสำเร็จในการทดสอบสมรรถนะและความแกร่งของรถแข่ง มิตซูบิชิ ไทรทัน แรลลี่คาร์ บนเส้นทางทดสอบแบบออฟโรดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าร่วมชิงชัยในรายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022
โดยการทดสอบในครั้งนี้ได้จำลองลักษณะเส้นทางและการบรรทุกสัมภาระต่างๆ ให้เสมือนกับสถานการณ์การแข่งขันจริง เพื่อทำการทดสอบสมรรถนะและความทนทานของระบบช่วงล่างและเครื่องยนต์ โดยการทดสอบสมรรถนะของรถแข่งแรลลี่ในครั้งนี้ เราได้จำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับเส้นทางการแข่งขันจริง โดยมีระยะวิ่งทดสอบรวม 10 กิโลเมตร ประกอบด้วย ถนนทางเรียบที่ต้องใช้ความเร็วสูง ถนนขรุขระ รวมทั้งถนนขนาดเล็กที่มีความคดเคี้ยวเพื่อลุยผ่านป่าและภูเขา
มร. ฮิโรชิ มาซูโอกะ ผู้อำนวยการ ทีม มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท กล่าวว่า “มิตซูบิชิ ไทรทัน มีระบบช่วงล่างที่แข็งแกร่งพร้อมสมรรถนะการขับขี่ที่ยอดเยี่ยม โดยเราได้ตัดสินใจลดน้ำหนักของตัวรถลงให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งความแกร่งและความทนทาน เพื่อให้สามารถรองรับการปรับแต่งสมรรถนะในแบบรถแข่งแรลลี่ให้ได้มากที่สุด การที่ได้ทดสอบขับรถแข่งแรลลี่คันนี้ไปแล้วกว่า 800 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาทั้ง 2 วัน ได้แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะอันยอดเยี่ยมตลอดเส้นทางการทดสอบที่สมบุกสมบัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นไปตามที่เราได้ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้เรายังมั่นใจอีกว่าการเตรียมความพร้อมของเราได้ดำเนินมาถูกทางตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้”
เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ เป็นหนึ่งในการแข่งขันแรลลี่แบบครอสคันทรีสุดหฤโหดนาน โดยใช้ระยะการแข่งขันนานราว 1 สัปดาห์ และมีระยะทางการแข่งขันรวมกันทั้งสิ้นกว่า 2,000 กิโลเมตร บนเส้นทางธรรมชาติที่มีความสลับซับซ้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปกติแล้วการแข่งขันรายการดังกล่าวนี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้การแข่งขันฯ ในปี 2563 และ 2564 ต้องถูกยกเลิกไป สำหรับในปีนี้ การแข่งขันฯ ได้ถูกเลื่อนไปจัดในระหว่างวันที่ 21 – 26 พฤศจิกายน 2565 โดยมีระยะทางการแข่งขันราว 1,700 กิโลเมตร และเริ่มการแข่งขันที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ก่อนข้ามพรมแดนมุ่งหน้าสู่ประเทศกัมพูชา และสิ้นสุดการแข่งขันที่แหล่งมรดกโลกที่สำคัญอย่าง ปราสาทนครวัด
มิตซูบิชิ ไทรทัน แรลลี่คาร์ จัดเป็นรถแข่งในรุ่น T1 (รถแข่งแบบครอสคันทรี รุ่นโปรโตไทพ์) ตามหลักการตัดสินของสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) โดยเป็นรถแข่งที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของรถกระบะ มิตซูบิชิ ไทรทัน รุ่น 4 ประตู โดยฝากระโปรงหน้า ประตูหน้าและหลัง รวมถึงห้องโดยสารและชิ้นส่วนต่างๆ ถูกลดน้ำหนักลงเพื่อให้ตัวรถมีน้ำหนักเบาที่สุด ขณะที่ตัวรถยังได้รับการเสริมความแข็งแรงด้วยโครงเหล็กนิรภัยและแผงกันกระแทกใต้ท้องรถ ช่วงล่างปรับปรุงใหม่ เพื่อเพิ่มสมรรถนะการควบคุมให้ดีมากยิ่งขึ้น ติดตั้งเพิ่มระบบล็อกเฟืองหน้าและท้าย (LSD) พร้อมใส่ยางออฟโรดขนาดใหญ่ และล้ออัลลอยดีไซน์ ใหม่ ที่มีน้ำหนักเบา ช่วยเพิ่มสมรรถนะการควบคุมบนถนนที่ขรุขระได้อย่างดีเยี่ยม เครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.4 ลิตร ปรับปรุงใหม่ เพื่อลดน้ำหนักและลดแรงเสียดทาน พร้อมเพิ่มสมรรถนะอัตราการเร่งที่ตอบสนองได้เร็วขึ้นกว่าเดิมในย่านความเร็วกลาง ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการขับแข่งขันประเภทแรลลี่ พร้อมกันนี้ยังได้ทำการปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถทนต่อการลุยน้ำ เพราะในบางช่วงของการแข่งขันฯ นักแข่งจำเป็นที่จะต้องขับลุยฝ่าข้ามแม่น้ำ ดังนั้นการซีลปิดผนึกเครื่องยนต์ที่มิดชิด พร้อมทั้งการติดตั้งสน็อกเกิลท่อกรองอากาศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ความยาว | 5,300 มม. |
ความกว้าง | 1,815 มม. |
ระยะฐานล้อ | 3,000 มม. |
ระยะห่าง (หน้า/หลัง) | 1,520 มม. / 1,515 มม. |
เครื่องยนต์ | รหัส 4N15 เครื่องยนต์ 4 สูบ ดีเซล เทอร์โบ MIVEC |
หัวฉีดเชื้อเพลิง | คอมมอนเรล หัวฉีดแรงดันสูง |
ความจุ | 2,442 ซีซี |
พละกำลังสูงสุด | 133 กิโลวัตต์ |
แรงบิดสูงสุด | 430 นิวตันเมตร |
ระบบส่งกำลัง | เกียร์ธรรมดา 6 สปีด |
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ | Super Select 4WD-II |
ระบบล็อกเฟือง | CUSCO แบบ LSD หน้าและท้าย |
ช่วงล่างด้านหน้า | แบบอิสระ ดับเบิลวิชโบน พร้อมคอยล์สปริง |
ช่วงล่างด้านหลัง | แหนบพร้อมโช๊คอัพแบบไขว้ |
โช๊คอัพ | โช๊คอัพด้านหน้าและหลังสามารถปรับระดับได้ของ CUSCO |
ระบบบังคับเลี้ยว | แบบแร็คแอนด์พิเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง |
ระบบเบรก | ดิสก์เบรกหน้าและหลังแบบมีช่องระบายความร้อน ENDLESS พร้อมคาลิปเปอร์ 4 สูบ |
ล้อ | อลูมิเนียมอัลลอย ขนาด 17 นิ้ว x 8J ของ WORK |
ยาง | Yokohama GEOLANDAR M/T G003 ขนาด 265/70 R17 |
อื่น ๆ | ฝากระโปรงหน้า ประตูหน้าและหลังผลิตขึ้นรูปจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ |
บริษัทผู้ให้การสนับสนุน
ทีม มิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ท เข้าแข่งขันรายการ เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ 2022 ด้วยการสนับสนุนจากเหล่าพันธมิตรผู้ให้การสนับสนุน 8 บริษัท (เรียงตามลำดับตัวอักษร)
บริษัท | การสนับสนุน |
CARROSSER Co., Ltd. | สนับสนุนระบบกันสะทือน CUSCO พร้อมโช้คอัพด้านหน้าและหลัง รวมถึง ระบบล็อกเฟืองหน้าและท้ายแบบ LSD |
ENDLESS PROJECT Co., Ltd. | สนับสนุนคาลิเปอร์เบรก ดิสก์เบรก และผ้าเบรก |
ENEOS Corporation | สนับสนุนน้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่อง และน้ำมันหล่อลื่นต่างๆ |
Fortec Motorsport Ltd | สนับสนุนระบบน้ำหล่อเย็นสำหรับรถแข่ง |
HANKYU HANSHIN EXPRESS Co., Ltd. | สนับสนุนการขนส่งชิ้นส่วนพิเศษสำหรับการแข่งแรลลี่มายังประเทศไทย |
HKS Co., Ltd. | สนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับการแข่งแรลลี่ |
The Yokohama Rubber Co., Ltd. | สนับสนุนยาง GEOLANDAR M/T G003 ยางลุยโคลนสำหรับรถกระบะ |
Work Co., Ltd. | สนับสนุนล้อรถ สำหรับการแข่งขัน |
การแข่งขัน เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ ครั้งที่ 27 จะเริ่มเปิดฉากการแข่งขันอย่างเป็นทางการด้วยพิธีเปิดฯ ที่จะถูกจัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ใกล้กับชายแดนประเทศกัมพูชา ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นี้ โดยการแข่งขันจะเริ่มขึ้นจริงในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ช่วงแรกของสนามแข่งขันจะถูกจัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากนั้นจะมุ่งหน้าสู่ประเทศกัมพูชาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 และสิ้นสุดการแข่งขันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด แหล่งมรดกโลกที่สำคัญ ทั้งนี้ระยะทางการแข่งขันในแต่ละปีจะครอบคลุมระยะทางมากกว่า 1,700 กิโลเมตร และในปีนี้เส้นทางการแข่งขันจะยังคงความทรหดเหมือนเช่นเคย ด้วยสภาพเส้นทางที่หลากหลาย ทั้งเส้นทางที่ต้องขับตะลุยผ่านภูเขา ป่าทึบ ดินโคลน ข้ามแม่น้ำ และเนินทราย รวมทั้งบนถนนเซอร์กิตที่ต้องอาศัยทักษะการควบคุมและสมรรถนะความแกร่งขั้นสูงสุด โดยทักษะของทั้งผู้ขับขี่และทีมงานจะถูกทดสอบอย่างต่อเนื่องด้วยเส้นทางการแข่งขันที่มีความสลับซับซ้อน พร้อมด้วยสภาพภูมิอากาศที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติตลอดเส้นทางการแข่งขัน