“Model Car” กับฐานะ “Dream Car” ในโลกใบเล็ก สำหรับ “คนวัยโต”
สำหรับ “คนรักรถ” แล้ว “Dream Car” หรือ “รถในฝัน” ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่ต้องหามาครอบครองถ้ามีโอกาส แต่ด้วยความเป็น “รถในฝัน” บางครั้งมันไม่อาจเดินทางมาถึง “ความเป็นจริง” … เพราะงั้นคงต้องขอบคุณการถือกำเนิดของ Model Car ที่ทำให้ “Dream Car” ของใครหลายคนไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ฝัน” แม้จะเป็นแค่ขนาดย่อส่วนก็ตาม
“รถโมเดล” (Model car) รู้จัก แล้วจะหลงใหล
สำหรับคำว่า “โมเดล” หรือ “Model” ความหมายอย่างเป็นทางการก็คือ “แบบ” หรือ “ตัวอย่าง” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องให้มีขนาดเท่ากับต้นแบบ และไม่จำเป็นต้องใช้งานได้จริง ดังที่เราจะเห็นจาก “แบบจำลองบ้าน, คอนโด” หรือแม้กระทั่ง “รถ” เพราะฉะนั้นคำว่า “รถโมเดล” หรือ “Model Car” จึงมีความหมายว่า “รถจำลอง” ที่ถูกสร้างขึ้นจากรถที่ถูกผลิตขายออกมาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเก่า หรือรุ่นใหม่ ให้มีรายละเอียดเหมือนจริงที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีขนาดเท่าคันจริง หรือใช้งานได้จริง
โดย ณ ปัจจุบัน ก็มีหลากหลายบริษัทผู้ผลิตคอยป้อน “รถโมเดล” เข้าสู่ตลาดมายั่วใจนักเล่น นักสะสม มากมาย ด้วยขนาด, รุ่น และวัสดุที่หลากหลาย เช่น Plastic Kit Model ที่ค่อนข้างมี “ความท้าทาย” จากเหล่าชิ้นส่วนพลาสติกที่ต้องมาทำทุกอย่าง ตั้งแต่ ประกอบ, ทำสี, ติดสติ๊กเกอร์ จนกระทั่งโมดิฟายด์ ถ้าอยากจะให้ออกมาสวยสมใจ โดยสเกล หรือขนาดของ Plastic Kit Model ส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกไม่มากนัก
ต่างกับ “รถโมเดล” อีกแบบที่เรียกว่า Diecast Car Model ที่ง่ายต่อการเล่น การสะสมมากกว่า ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่ส่วนใหญ่ทำมาจาก “เหล็ก” ซึ่งมาแบบสำเร็จรูปผ่านการทำสีเรียบร้อย ทั้งยังมีความแข็งแรงทนทาน สามารถแกะออกมาตั้งโชว์ได้เลย แถมยังหยิบจับได้ถนัดมือ โดยไม่ต้องกลัวแตกหักเสียหาย และที่สำคัญก็คือระดับ “ราคา” และ “ขนาด หรือสเกล” ของตัวรถโมเดลที่มีให้เลือกหลายหลาย
นอกจากนี้ก็มีบางผู้ผลิตยกระดับ “รถโมเดล” ขึ้นไปอีกขั้น จากการจำลองรถที่มีให้เห็นตามท้องถนนทั่วไป เป็นเหล่ารถแต่งจากสำนักแต่งชื่อดังต่างๆ ในขนาดย่อส่วน ซึ่งวัสดุที่เลือกใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเรซิ่น (Resin) หล่อขึ้นรูป ส่วน “ขนาด หรือสเกล” ก็จะมีให้เลือกเช่นเดียวกับ Diecast Car Model
ว่าด้วยเรื่องของ “สเกล” ยอดนิยมของ Diecast Model
“สเกล” หรือ “ขนาด” ที่มีหลากหลายของ Diecast Model คือ จุดเด่นหลักๆ ให้นักสะสมเลือกเป็นเจ้าของ ซึ่งหลักๆ ที่มีจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด และเป็นที่นิยมของนักสะสม จะประกอบด้วย Scale 1:18 ที่มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 24 ซม. พร้อมจุดเด่นในเรื่องของขนาด น้ำหนัก ความสวยงามในรายละเอียด ที่ทำออกมาได้เหมือนรถจริง มีลูกเล่นต่างๆ เช่น การเปิดประตูรถ, ฝากระโปรงหน้า, ฝากระโปรงหลัง พวงมาลัยหมุนหักเลี้ยวล้อได้ ไปจนถึงการปูพรมพื้นห้องโดยสาร ส่วนราคาก็เคาะกันตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นบาทเลยทีเดียว
ต่อมา คือ ขนาด Scale 1:24 ความยาวเฉลี่ย 18 ซม. โดยมีจุดเด่นคล้ายๆ กับ Scale 1:18 แต่มีข้อดีกว่า คือ ถ้าใครสะสมรถแปลกๆ เช่น รถจากในภาพยนตร์ หรือรถซิ่ง เค้ามีให้เลือกเพียบ ส่วนลูกเล่นก็คล้ายๆ กัน แต่ราคาน่าคบหามากกว่า เพราะมีทั้งแต่หลักร้อยปลาย จนถึงพันต้นๆ
Scale 1:43 ความยาวเฉลี่ย 10 ซม. มีจุดเด่นตรงความหลากหลายของประเภท ตั้งแต่รถบ้านๆ ยันรถแข่ง พร้อมรายละเอียดที่งดงามสมจริง แถมด้วยความทรงคุณค่า เพราะส่วนใหญ่มาพร้อมกับแพคเกจเป็นกล่องพลาสติกใสครอบ ทำให้ดูมีคุณค่า ในขณะที่ข้อเสียหลักก็คือทำได้แต่ตั้งโชว์สวยๆ เพราะไม่มีลูกเล่นเหมือนพวกสเกลใหญ่ทั้งหลาย ส่วนราคาก็ว่ากันไปตามรุ่น เพราะว่ากันตั้งแต่พันกว่า ไปถึงหลายพันก็มี
สุดท้ายกับ Scale 1:64 กระแสแรงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ณ เวลานี้ ด้วยระดับราคาหลักร้อย และหาซ้อได้ง่ายไม่ว่าจะในห้าง หรือร้านสะดวกซื้อ แถมมีการผลิตมากมายหลายรุ่นไม่ว่าจะเป็นรถบ้านๆ ที่เห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป หรือ รถในจินตนาการให้เด็กๆ ไปจนถึง “รุ่นพิเศษ” ที่นักสะสมตามล่า และเหล่า “Dream Car” ในฝันของหลายคน
1:64 กระแสนิยมของ “คนช่างฝัน”
ปัจจุบัน Diecast Car Model สเกล 1:64 ได้กลายเป็นความนิยมอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทย ที่นำมาต่อยอดให้เป็น “Dream Car” ในฝันหลากหลายสไตล์ ทั้งทำสีใหม่ เปลี่ยนล้อ สร้างชุดแต่งขึ้นมาใส่เอง หรือแม้กระทั่งทำสติ๊กเกอร์แบรนด์ของแต่งต่างๆ มาแปะลงไปบนตัวรถ กระทั่งใส่ของแต่งซิ่งลงไปในรถคันจิ๋วๆ เก็บสะสมเป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวสุดหวง
ยิ่งไปกว่านั้นการมีแค่ “รถโมเดล” ไม่ว่าจะแต่ง หรือ ไม่แต่ง ก็ดูเหมือนจะยังไม่พอต่อความต้องการ ฉะนั้นการนำเอาแบบจำลองสามมิติ (Diorama) ที่สมจริง เข้ามาเป็นฐานสำหรับการจัดวาง คือ สิ่งที่ช่วยเติมเต็มยิ่งขึ้น โดยแบบจำลองสามมิติ หรือ Diorama ส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับจินตนาการ หรือ ขึ้นอยู่กับตัวรถโมเดล เช่น รถสไตล์แรลลี่ก็อาจใช้ Diorama สนามแข่งทางฝุ่น, ทางดิน หรือในป่า แต่เป็นแนวรถแข่ง Circuit ก็สร้างฉากจำลองมาเป็นแนวๆ สนามแข่ง หรือ Pit
หากเป็นแนวๆ รถซิ่ง JDM, USDM ก็อาจเป็น Diorama ลานจอดรถ ซึ่งได้อารมณ์คล้ายๆ การ Meeting ของทีมรถซิ่ง ไปจนถึง Diorama ในเมืองที่มีตึกรามบ้านช่อง รถราสัญจรไปมา หรือแม้กระทั่ง Diorama ที่เป็นอู่รถ หรือ อาคารจอดรถ ซึ่งทั้งนี้ ทั้งนั้นความสวยงาม ความสมบูรณ์ของ Diorama ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความ Diorama ว่าต้องการรูปแบบไหน สไตล์ไหน, ขนาดที่เหมาะสมกับสเกลของรถ และที่สำคัญก็คือ “ฝีมือ” ของผู้สร้างสรรค์ ที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดที่แม้จะเล็กน้อยก็ตาม เพื่อเติมเต็มความฝันในโลกใบเล็กให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด