รีวิว : Mazda3 ใหม่ 2019 ขับโคตรดี ถึงไม่แรงแบบก้าวร้าว แต่ออปชั่นแน่น ถ้าโดนใจไม่มีคำว่าแพง
แต่ไหนแต่ไรมาแบรนด์ Mazda จัดเป็นรถญี่ปุ่นที่ให้ความรู้สึกการขับขี่ของช่วงล่างที่ดูดีกว่า แบรนด์รถญี่ปุ่นอื่นๆ แม้ว่าในช่วง 10 ปีหลังมานี้ มาสด้าจะโดดเด่นขึ้นมาในเรื่องดีไซน์ที่ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น แต่ในความเห็นส่วนตัวถ้านับเรื่องการขับขี่ก็ยังถือว่าขี่คู่แข่งอยู่นิดๆเท่านั้น จนเมื่อ Mazda3 ใหม่ 2019 เปิดตัว และได้มีโอกาสไปทดลองขับ กลับทำให้ความความคิด และความรู้สึกเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะน่าจะเป็นรถเก๋งใน C-Segment ที่ตอบโจทย์ในแทบทุกด้าน จนผู้เขียนต้องหันกลับมามองเจ้า Mazda3 อีกครั้ง
Mazda3 ใหม่ 2019 นับเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 4 ของมาสด้า3 ซึ่ง ณ ปัจจุบันเหลือคู่แข่งในอีกเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น โดยเจนฯ ล่าสุดนี้ ทางทีมวิศวกรได้พัฒนาตัวรถให้ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน รวมทั้งแก้ไขจุดที่ไม่ได้เหนือไปกว่าคู่แข่ง ให้กลับมาเป็นจุดเด่น จนต้องนำมาเป็นตัวเลือกที่ยากขึ้นในการประกอบการตัดสินใจถอยรถซักคัน
Mazda3 ใหม่ มาพร้อมกับตัวถัง 2 รูปแบบเช่นเคยคือ ตัวถังแบบเก๋งซีดาน และตัวถังแบบท้ายตัดที่มาสด้าเรียกว่า “ฟาสท์แบ็ก” (แต่ยังใช้ชื่อห้อยท้ายว่า Sport เพื่อเรียกรูปทรงแบบนี้) โดยแต่ละตัวถังแบ่งเป็น 3 รุ่นย่อยเหมือนเดิม
ความต่างของตัวถังในเจนเนอเรชั่นที่แล้ว แทบมีความเหมือนกันมากๆ ในเรื่องชิ้นส่วนตัวถังโดยรวม แต่กับเจนเนอเรชั่นที่ 4 นี้ตั้งแต่กันชนหน้า หน้ากระจัง ก็แตกต่างกันแล้ว จากนั้นไล่ไปตั้งแต่แก้มข้าง ประตู แนวเส้นเหลี่ยมสันต่างๆ จนถึงไฟท้าย คนละเรื่องกันเลย
มิติตัวถัง
Fastback | 5 doors | Sedan | 4 doors | |
รุ่นใหม่ | รุ่นก่อน | รุ่นใหม่ | รุ่นก่อน | |
ความยาว มม. | 4460 | 4470 | 4660 | 4580 |
ความกว้าง มม. | 1795 | 1795 | 1795 | 1795 |
ความสูง มม. | 1435 | 1465 | 1440 | 1450 |
ระยะฐานล้อ มม. | 2725 | 2700 | 2725 | 2700 |
ความกว้าช่วงล้อ หน้า/หลัง มม. | 1570/1580 | 1555/1560 | 1570/1580 | 1555/1560 |
ระยะต่ำสุดถึงพื้น มม. | 135 | 155 | 135 | 155 |
จัดทรงสวย เหมือนผ่านการตกแต่ง
มองโดยรวมดูเหมือนเป็นการต่อยอดจากรุ่นเดิม แต่จะเห็นว่าระยะฐานล้อถูกขยายเพิ่มขึ้นเพื่อความกว้างขึ้นอีกนิด และถ่างความกว้างช่วงล้อให้ดูเกาะมากขึ้น โดยว่ากันที่รุ่นท้อปอย่างเดียวจะติดตั้งล้อแม็กขอบ 18” มาให้เป็นมาตรฐาน โดยมีขนาดยาง 215/45R18 ซึ่งถ้าสังเกตดีจะเห็นว่า ออฟเซ็ตของล้อแม็กยื่นออกมาแทบจะเสมอกับซุ้มล้อ ไม่ได้ดูหุบเข้าไป เหมือนกับรถขับเคลื่อนล้อหน้าที่มาจากโรงงาน ทั้งที่ความกว้างของแม็กก็แค่ 7” เท่านั้น เรียกได้ว่า ล้อเดิมแต่ถูกจัดทรงมาสวยทีเดียว
ไฟหน้าเป็นแบบโปรเจ็กเตอร์ LED ไฟท้ายเป็น LED ด้วยเช่นกัน โดยในรุ่นท้อปเท่านั้นที่จะให้ไฟ Daytime Running Light แบบ LED มาด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งไฟเลี้ยว เป็น LED ด้วยเช่นกัน ตอนขับตามหลังคันข้างหน้านี่ ไฟเลี้ยวเข้มจ้ามาเลยทีเดียว
ภายในยังพิถีพิถัน และไฮเทคด้วยแพทเทิร์นเดิม
ความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด ยังคงต่อยอดสู่มาสด้า3 เจนเนอเรชั่นล่าสุดนี้ ตั้งแต่คอนโซลไปจนแผงประตูข้าง ดูซอฟท์นุ่มนวลจากวัสดุที่ใช้ ซึ่งของแบบนี้จะพบเจอได้ในรถรุ่นสูงกว่า แต่มาสด้า3 ยังยึดมั่นในจุดแข็งตรงนี้
เบาะนั่งฝั่งคนขับ ปรับด้วยไฟฟ้าได้ถึง 10 ทิศทาง พร้อมเมมโมรี่อีก 2 ตำแหน่ง หากปรับต่ำสุดจะค่อนข้างนั่งแบบจมทีเดียว ขนาดว่าผู้เขียนเองสูง 170 ซม.แม้ส่วนตัวจะชอบปรับต่ำสุด แต่พอมาเป็นมาสด้า3 ใหม่ กลับต้องขอยกขึ้นอีกนิดหน่อย ไม่อย่างนั้นมองเห็นข้างหน้า ส่วนฝั่งคนนั่งตอนหน้า น่าจะให้แบบปรับไฟฟ้ามาด้วย แต่กลับให้แบบปรับด้วยมือ ก็พอหยวนๆ เพราะในเรื่องออปชั่นอื่นๆ ให้มาเต็มเอี๊ยด สำหรับที่นั่งหลังยังคงบุคลิกความเป็นมาสด้า3 ไม่ได้กว้างขวาง แต่ในความทรงจำเล็กๆ ที่พอจำได้ รู้สึกถึงความอึดอัดที่มีน้อยกว่ารุ่นเดิมอย่างชัดเจน หลายคนที่เคยบ่น น่าจะพอใจขึ้น
มาตรวัดแบบดิจตอล TFT LCD เทียบง่ายๆ คือเหมือนหน้าจอมือถือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ เวลาดับเครื่องหน้าจอจะมืด พอเปิดสวิทช์ถึงจะแสดงความแพรวพราวออกมา พร้อมข้อมูลแสดงผลที่หลากหลาย
เรื่องความบันเทิง และการควบคุมระบบทุกๆ อย่างของรถมาสด้า3 อยู่ที่หน้าจอบนคอนโซลกลางขนาด 8.8 นิ้ว ควบคุมด้วยปุ่ม Center Command ตรงแถวๆ บริเวณคันเกียร์ที่คนใช้มาสด้าน่าจะคุ้นเคยกันมาก่อน โดยระบบ Mazda Connect ใหม่นี้ เชื่อมต่อ Apple CarPlay ได้ผ่านช่อง USB ซึ่งมี 2 ช่องให้เลือก หรือใครจะเข้าไป Setting เกี่ยวกับตัวรถแบบไหน ยังไง ก็เลือกผ่านปุ่มควบคุม และจอแสดงผลนี้
ด้านเครื่องเสียง ทางมาสด้าเน้นย้ำให้เราก่อนทดลองขับ ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้คาดหวังมาก แม้จะเป็นระบบเสียงจาก BOSE รอบทิศทาง 12 ตำแหน่งก็ตามที แต่พอได้ลองเชื่อมต่อฟังเพลงจากมือถือ กลับ “ทึ่ง” ไม่น้อยทีเดียว เสียงที่ได้ มีความใส สะอาด เอามากๆ คิดดูแล้วกันว่าระดับ “หูทองแดง” อย่างผู้เขียนยังยอมรับเลย ไม่คาดคิดว่า รถราคาระดับ 1.2 ล้าน (ทอน 2 พัน) จะใส่ BOSE รุ่นที่ดีมาให้ขนาดนี้
เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรบล็อกเดิม แต่เพิ่มการปรับจูน
หลายคนอาจคลางแคลงว่า บอดี้ใหม่หมดทั้งคัน แต่เครื่องยนต์ยังเป็นบล็อกเดิมจากรุ่นก่อนอีกเหรอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะของเดิมเทคโนโลยีล้ำไปไกล แต่มาสด้าก็ได้มีการปรับจูนให้ดีขึ้น โดยหลักๆ ที่พัฒนาปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องหลักๆ คือ เปลี่ยนเชพของลูกสูบใหม่ เปลี่ยนแหวนลูกสูบใหม่ ปรับระบบการหล่อเย็นใหม่ และหัวฉีดจ่ายเชื้อเพลิงออกแบบใหม่
บล็อก 2.0 ลิตร Skyactiv-G เบนซินแถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1998 ซีซี วาล์วแปรผันคู่ Dual S-VT ให้กำลังอัด 13.0 : 1 กำลังสูงสุด 165 แรงม้าที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 213 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบ/นาที เคลมอัตราสิ้นเปลืองไว้ที่ 15.9 กม./ลิตร ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุดถึง E85
ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรงด้วยไฟฟ้า ดิสก์เบรก 4 ล้อ ช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบกึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม
บทสรุปทดลองขับแบบรวบรัด
ครั้งนี้มาสด้าจัดให้สื่อมวลชนได้ขับทดสอบไกลถึงภูเก็ต โดยเลือกใช้เส้นทางจากภูเก็ตไปพังงา แล้ววนกลับมาภูเก็ต รวมระยะทาง 240 กม.ซึ่งแชร์กันขับในรถคันนึง 3 คน เส้นทางส่วนใหญ่ไปทางเขาหลัก จะเป็นโค้งทั้งกว้างทั้งแคบ ต่อเนื่องกันตลอด บวกกับทางตรงบ้างเล็กน้อยให้ได้ลองเร่ง
ผู้เขียนเริ่มตั้งแต่เป็นผู้โดยสารด้านหลัง จากความรู้ซึ่งเมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้ว แม้จะไม่ได้กว้างแบบเหยียดแข้งขาได้สบาย แต่ความอึดอัดดูผ่อนคลายลง ที่แน่ๆ แม้จะเจอไปหลายโค้ง ก็ไม่ได้รู้สึกวิงเวียนแต่อย่าง ตัวรถค่อนข้างนิ่งมากเวลาเจอโค้ง การซับแรงสั่นสะเทือนทำได้ดีกว่าตัวเดิมมาก เก็บอาการกระเด้งกระดอนได้อยู่หมัด นุ่มหนึบแบบกระชับ เสียงรบกวนจากพื้นหรือเสียงลมจากด้านข้างแทบจะไม่เล็ดลอดเข้ามาให้รบกวนการสนทนาของคนที่อยู่ในรถ
พอเปลี่ยนมารับไม้เป็นมือขับไม้สุดท้าย สัมผัสแรกรู้สึกว่า พวงมาลัยวงโตไปหน่อย ความอวบอิ่มของพวงมาลัยน้อยไปหน่อย เลยดูขัดเขินไปบ้างในความรู้สึกสปอร์ต แต่ก็ไม่ใช่สาระ พวงมาลัยปรับได้ 4 ทิศทาง ระยะยืดเข้าออกยาวดี ปรับท่านั่งได้ง่าย
เครื่องยนต์แม้ไม่ปรู้ดปร้าด ไม่ดึงหลังติดเบาะ แต่เดินเรื่อยๆ ไม่มีหมด จะเช็กบิลแซงคันหน้าไม่ต้องลุ้น แต่ความมันส์ และมีอารมณ์ร่วมไปกับการขับ มันอยู่ตรงช่วงล่างที่เซ็ตมาแบบ “สปอร์ตผู้ดี” แม้พอมาเป็นคนขับจะรู้สึกกระด้างกว่าตอนนั่งหลัง แต่ก็ไม่มาก คาดว่าน่าจะลมยางแข็งไปนิด
การตอบสนองในจังหวะเข้าโค้งต่อเนื่องหลายๆ โค้ง การใช้คันเร่ง หรือแตะเบรกในบางคราว ทำได้แบบที่คนขับ และคนนั่งแทบไม่รู้สึกถึง โมเมนตั้ม ของรถที่เปลี่ยนไป อาการโยนซ้าย-ขวาแทบไม่รู้สึก รถค่อนข้างนิ่งมาก นอกจากการเซ็ตช่วงล่างใหม่แล้ว ระบบ GVC-Plus (ของเดิมแค่ GVC) ดูจะเข้ามาช่วยได้อย่างมาก เพราะ GVC-Plus พัฒนาเพิ่มขึ้นในจังหวะออกโค้งด้วย ไม่ให้สูญเสียกำลัง
ระบบเบรกทำได้ประทับใจแบบ คุมแรงเบรกได้ตามน้ำหนักเท้าสั่ง โดยที่ตัวรถมีระบบช่วยลดอาการหน้าทิ่ม เพื่อรักษาโมเมนตั้มของรถ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ไม่ว่าจะเหวี่ยงซ้าย ขวา หรือหน้าทิ่ม หน้าเชิด ก็แทบจะไม่รู้สึก ทำให้ขับได้สนุก และมันส์ไปกับโค้ง รวมถึงสภาพถนนอันหลากหลายรูปแบบของเมืองไทย
ห้องโดยสารถูกพัฒนาเรื่องการเก็บเสียงแบบชัดเจนขึ้นอย่างมาก ด้วยความเร็วระดับ 140-150 ยังคงเงียบทั้งจากพื้นด้านล่าง รวมถึงเสียงลมปะทะด้านข้าง มีเพียงเสียงท่อคำรามให้ได้ยิน (จะเร้าใจหรือรำคาญแล้วแต่เฉพาะบุคคล) แต่เป็นเฉพาะเวลาเลือกโหมด sport เท่านั้น ถ้าเป็นโหมดปกติ รอบเครื่องจะลดลง เสียงจากท่อจะเงียบตามไปด้วย ส่งผลให้ฟังเพลงได้ไพเราะตามไปด้วย
ย้อนกลับไปที่การขับขี่ ในเรื่องของฟีลลิ่งของพวงมาลัย มีความสมูธในทุกองศาที่หมุน เลี้ยวได้คมแบบจัดๆ โดยที่น้ำหนักออกกลางๆ ค่อนไปทางไม่ต้องออกแรงมาก เรียกว่าผู้เขียนชอบเอามากๆ คือไม่จำเป็นต้องหนัก แต่เวลาเลี้ยวแล้ว รถเลี้ยวตาม โดยที่ไม่รู้วอกแวกเลย
ยังมีออปชั่นในเรื่องของความปลอดภัย และออปชั่นอื่นๆ ที่ใส่มาจนแน่นเอี๊ยดเลย ซึ่งก่อนหน้ามาสด้าก็ใส่ออปชั่นมาให้เยอะ แต่การขับขี่แม้จะทำได้ดี แต่ก็ไม่เด่นกว่าคู่แข่งมาก ไม่เหมือนคราวนี้ที่มาสด้า แก้ไขจุดพื้นฐานที่ผู้บริโภคต้องการ ให้มีคุณภาพชัดเจนขึ้นมา ในราคาที่บอกเลยว่า ยอมลดกำไรลงไปเหรอ?
ราคาจำหน่าย Mazda3 ใหม่ 2019
Sedan
2.0 C 969,000 บาท
2.0 S 1,069,000 บาท
2.0 SP 1,198,000 บาท
Fastback
2.0 C sport 969,000 บาท
2.0 S sport 1,069,000 บาท
2.0 SP sport 1,198,000 บาท