Nissan LEAF ชาร์จเพียงครั้ง ก็เกินพอพิชิต “อินทนนท์”

Nissan LEAF

บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ด้วยบททดสอบใหม่เป็นรายแรกในไทย กับความท้าทายจาก Nissan LEAF ที่ชาร์จไฟเต็มเพียงครั้ง เพื่อขับขี่บนเส้นทางกว่า 200 กม. และการพิชิตยอดดอยอินทนนท์

Nissan LEAF

Nissan LEAF โดดเด่นด้วยแสงเงา เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย

สำหรับแว่บแรกที่เดินทางมาถึงจุดนัดพบ ณ โรงแรม Veranda High Resort จ.เชียงใหม่ ก็พบว่า Nissan LEAF ที่จัดเตรียมไว้เพื่อทดลองขับทั้ง 10 คันนั้นกำลังจอดสงบนิ่งชาร์จไฟอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เลยทำให้เรามีโอกาส “ส่อง” รายละเอียดงานดีไซน์ได้อย่างสบายๆ

เริ่มจากภายนอกที่มากับแนวทาง “Cool Tech Attitude” ซึ่งต่อยอดแรงบันดาลใจมาจากรถต้นแบบ IDS Concept เช่น ความสปอร์ตของรูปทรงที่ดึงดูดสายตา และสะท้อนตัวตนของยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต ตั้งแต่ฝากระโปรงหน้าที่ลาดต่ำลงตัวกับกระจกด้านหน้าที่ทอดยาวไปจนถึงหลังคา และสร้างองศาลาดเอียงลงสู่ด้านหลัง

Nissan LEAF

 

ผสมผสานด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น กระจังหน้าแบบ V-Motion ที่โดดเด่นจากลวดลายตาข่ายสีน้ำเงินสว่างแบบสามมิติ เพื่อแสดงฐานะของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ประกบด้วยชุดไฟหน้าแบบโปรเจ็คเตอร์ ทั้งไฟต่ำ และไฟสูง ที่ติดตั้งมาให้เป็นครั้งแรกภายโคมรูปทรง “บูมเมอแรง” ส่วนด้านหลังมากับชุดไฟท้ายที่สะดุดตา, สปอยเลอร์ และกันชนท้ายที่ดีไซน์คล้าย Diffuser โดยทั้งหมดคือสิ่งที่สร้างค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทานอากาศได้ต่ำเพียง 0.28 เท่านั้น

ก้าวไปที่ภายในห้องโดยสารมากับความเรียบง่าย  และกว้างขวางสะดวกสบายขึ้น ด้วยหลักการออกแบบ Gliding Wing พร้อมด้วยรายละเอียดต่างๆ ที่เน้นโทนสีฟ้า เช่น การตัดเย็บนส่วนของเบาะนั่ง, แผงประตู, ที่วางแขน ไปจนถึงพงมาลัย ตลอดจนบริเวณปุ่มสตาร์ และชุดเกียร์ก็ยังเลือกใช้โทนสีฟ้าอีกด้วยเช่นกัน

Nissan LEAF

 

นอกจากนี้ก็มีการปรับดีไซน์ให้หน้าจอ และรูปแบบของไฟแสดงข้อมูลให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน และเข้าใจง่าย ด้วยการผสมผสานมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อก และหน้าจอแสดงผลแบบ Multi-Information โดยมีตำแหน่งด้านซ้ายเป็นหน้าจอสีแบบ Thin-film Transistor (TFT) ขนาด 7 นิ้ว สำหรับแจ้งเตือนปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งคนขับสามารถเลือกแสดงข้อมูลตามที่ต้องการ ส่วนหน้าจอแสดงผลตรงกลางแบบ Flush-Surface ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่สะดวกในการเลือกระบบความบันเทิง

Nissan Intelligent Mobility วิสัยทัศน์ เพื่อก้าวสุ่โลกแห่ง “พลังไฟฟ้า”

Nissan Leaf เจนเนอเรชั่นที่ 2 ยังคงมากับความล้ำสมัยด้วยเทคโนโลยี Nissan Intelligent Mobility ที่โดดเด่นด้วย 3 สิ่งสำคัญ เริ่มจากข้อแรก เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving) ซึ่งประกอบด้วย e-Pedal อุปกรณ์มาตรฐานใหม่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่สามารถออกตัว, เร่งความเร็ว, ชลอความเร็ว หยุดนิ่ง และควบคุมตัวรถให้อยู่กับที่ ด้วยการใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว

รวมถึง Nissan Safety Shield เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูง เช่น ระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning : FCW), ระบบช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking : FEB), กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor : IAVM) พร้อมเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving Object Detection : MOD), ระบบช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control : ATC) และระบบเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Alert : DAA)

 

 

ต่อมา คือ เทคโนโลยีพลังการขับเคลื่อนอัจฉริยะ (Intelligent Power) ซึ่งมีหัวใจหลักเป็นระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนพละกำลังที่ 110 กิโลวัตต์ หรือมากกว่าเจนเนอเรชั่นที่แล้ว 38 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงแรงบิดที่เพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์เป็น 320 นิวตันเมตร ส่งผลให้มีอัตราเร่งที่ยอดเยี่ยม กับตัวเลข 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 7.9 วินาที อีกทั้งการใช้ชุดแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนใหม่ขนาด 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ยังสามารถเพิ่มระยะทางขับขี่ได้มากขึ้น ตามมาตรฐานการวัดค่าไอเสีย และอัตราสิ้นเปลือง NEDC (New European Driving Cycle) ซึ่งอยู่ที่ 311 กม.

Nissan LEAF

 

สุดท้าย คือ เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration) ที่มีพระเอกเป็นระบบ Vehicle-to-Grid ซึ่งสามารถสะสมพลังงานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากพลังงานส่วนเกินในเวลากลางวัน เพื่อนำกระแสไฟฟ้ามาใช้งานภายในบ้านช่วงกลางคืนได้อีกด้วย

บทพิสูจน์ครั้งสำคัญกับ 200 กม. และการพิชิดอยอินทนนท์

การทดสอบ Nissan Leaf ในครั้งนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากแบตเตอรี่ถูกชาร์จจนเต็มอัตราศึกที่ 100% ด้วยรูปแบบการชาร์จแบบ EVSE Cable หรือ เคเบิลอเนกประสงค์ที่มีมาให้พร้อมกับรถ ชาร์จจากไฟบ้านปกติที่เรียกว่า Standard Outlet Charging ทำการชาร์จข้ามคืนเนื่องจากต้องใช้เวลาประมาณ 12-15 ชั่วโมง ซึ่งนี่คือ หนึ่งในวิธีชาร์จที่มีทั้งหมด 3 รูปแบบ โดยมี 2 รูปแบบ คือ การชาร์จจากเครื่องชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) หรือ Wall Box Charging ที่ติดตั้งภายในบ้าน หรือในสถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์นี้ โดยจะสามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในเวลา 6-8 ชั่วโมง

สุดท้ายคือการชาร์จแบบด่วน หรือ Quick Charge ซึ่งจะทำการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง เพียงแค่ 40-60 นาที เพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุที่ 80 เปอร์เซ็นต์ และส่วนใหญ่มักมีติดตั้งในพื้นที่ที่ชาร์จสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ที่สาธารณะต่างๆ

Nissan LEAF

 

จากนั้นเริ่มต้นการขับขี่กันด้วยโหมด Eco เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน โดยหน้าที่ของเพื่อนร่วมรถจากอีกหนึ่งสื่อ บนเส้นทางในเมืองที่เรียกได้ว่าพอจะมีเพื่อนร่วมท้องถนนอยู่บ้าง ทำให้บางจังหวะต้องใช้คันเร่งมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องการเร่งแซง หรือต้องการทำความเร็วเพิ่ม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากขึ้น

สังเกตได้จากตัวเลขแสดงผลอัตราพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ จนกระทั่งมาถึงจุด Check Point แรก กับปริมาณแบตเตอรี่ที่โชว์อยู่ 75% กับเส้นทางที่ยังไม่ได้ไต่ขึ้นยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย พร้อมด้วยการที่ต้องเหลือพลังงานไฟฟ้ามากพอสำหรับการขับกลับสู่จุดหมายปลายทาง

และทันทีที่เริ่มไต่ขึ้น จะสังเกตได้เลยว่าแม้จะเป็นโหมด Eco แต่กับเส้นทางลาดชันแบบนี้ ที่ต้องใช้คันเร่งเยอะกว่าพื้นราบ จนถึงกับต้องลุ้นกันเลยทีเดียวว่าเมื่อถึงปลายทางพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่จะเหลืออยู่เท่าไหร่ ซึ่งผลที่ปรากฏ ณ จุดสูงสุดแดนสยาม คือ 26% กับเส้นทางที่เหลือราวๆ 100 กม. เพื่อกลับสู่ โรงแรม Veranda High Resort

โดยหลังจากทำใจสักพักความ Challenge กับเส้นทางขากลับก็เริ่มต้นขึ้น โดยมีการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ไปที่ B Mode ที่มีการทำงานคล้าย Engine Brake พร้อมด้วยโหมด Eco เพื่อทำการ Regenerative ในช่วงลงเขา สำหรับให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำการชาร์ไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ จากทั้งจังหวะยกคันเร่ง หรือแม้กระทั่งจังหวะเบรก ซึ่งเราสามารถทำการชาร์ไฟกลับเข้ามาที่แบตเตอรี่ได้ถึง 32% เพื่อขับขี่ในรูปแบบปกติ จนกระทั่งเดินทางกลับฐานทัพ โดยมียังคงมีพลังงานไฟฟ้าคงเหลืออีกถึง 13% ถือว่าสอบผ่านอย่างสวยงาม สำหรับการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียวในการพิชิตยอดดอยอินทนนท์

Nissan LEAF

 

ตัดภาพมาที่เรื่องของฟิลลิ่งในการขับขี่ ถ้าไม่นับเรื่องลุ้นในการขับแบบต้องชาร์จไฟ บอกได้เลยว่า Nissan Leaf มีสมรรถนะการขับขี่ที่เกินคาดมาก ตั้งแต่เรื่องของพละกำลังที่เรียกใช้ได้ทันทีแบบไม่มีอาการ “รอรอบ” ให้หงุดหงิด จนสามารถเรียกได้ว่า “ฟิน” ทุกช่วงจังหวะเร่งแซง

ตามด้วยเรื่องของระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า และช่วงล่างด้านหน้าแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมคอยล์สปริง และด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พร้อมคอยล์สปริง อันเป็นส่วนประกอบที่ลงตัวในการสื่อสาร ทั้งความเฉียบคมของพวงมาลัย ไปจนถึงการทรงตัวที่ดีของช่วงล่าง จนสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความสปอร์ตที่ชัดเจน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากดตำแหน่งเบาะนั่งให้ต่ำเตี้ย รับกับระดับพวงมาลัย ภายใต้ทัศนวิสัยที่ยังคงมองเห็นได้ชัดเจน ขณะวิ่งลงเขาที่เต็มไปด้วยโค้งสลับซ้าย-ขวา ซึ่งทำให้ Nissan Leaf เป็นรถไฟฟ้าที่ “ขับสนุก” อย่างเหลือเชื่อ ส่วนสิ่งเดียวที่คนไม่คุ้นเคยกับรถประเภทนี้ ควรต้องทำการปรับตัวก็คือ “น้ำหนักเบรก” ที่ออกจะ “ทื่อ” ไปซักนิดสำหรับการขับครั้งแรก แต่ก็ไม่ยากเกินไปในการปรับตัว เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Nissan LEAF

 

ส่วนถ้าให้สรุปอย่างจริงจังจากความเห็นส่วนตัว ผมว่า Nissan Leaf มีความเป็นยนตรกรรมที่เหมาะสมกับการใช้งานในเมืองมากกว่า เนื่องจากการรองรับของสถานีชาร์จ แต่ถ้าหากอยากเดินทางต่างจังหวัดก็สามารถทำได้ แต่คงต้องวางแผนกันซักนิด เพราะอันดับแรกจุดชาร์จตามต่างจังหวัดน่าจะยังไม่มีให้ใช้มากมายเท่าไหร่ แถมเราเองก็คงไม่สามารถขับขี่ให้ไฟถูกชาร์จกลับเข้าสู่แบตเตอรี่ได้ในทุกเส้นทาง

Nissan LEAF

 

อีกอย่าง “ราคา” ที่เปิดไว้ 1.99 ล้านบาท นั้นถือว่าค่อนข้างจะแรง เมื่อเทียบกับกระแสนิยมของคนไทย ฉะนั้นเรื่อง “ยอดขาย” น่าจะยังเป็นประเด็นรอง ซึ่งประเด็นหลักน่าจะเป็นการปูพรมสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้คนไทย เตรียมความพร้อมรับมือวิวัฒนาการจากอนาคตไปพร้อมๆ กับทำการบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของช่องทางในการปรับเพดานราคาลง และเมื่อวันข้างหน้าทุกอย่างพร้อม Nissan Leaf อาจจะเป็นยนตรกรรมที่มีให้เราเห็นกันเกลื่อนเมืองก็เป็นได้

Nissan LEAF


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |