โดน “ใบสั่ง” จ่ายค่าปรับที่ไหนได้บ้างนะ
คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า “ได้ ใบสั่ง จับความเร็วมาตั้งหลายใบ ไม่เคยไปจ่ายเลยไม่เห็นจะมีอะไรก็ยังต่อทะเบียนได้ปกตินะ” ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะใช่แต่หลังจากที่ทางคณะ คสช. ออก คำสั่งคสช.ที่ 14/2560 ระบุถึงมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก หากไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จะมีผลทำให้ไม่สามารถชำระภาษีรถยนต์ประจำปีได้
ซึ่งผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถจะต้องชำระใบสั่งตามกำหนด เพื่อให้สามารถออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีได้ แต่หากไม่ชำระค่าปรับตามกำหนดในใบสั่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ระดับสารวัตรจะทำหนังสือลงทะเบียนตอบรับ เพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถมาชำระภายใน 15 วันตั้งแต่ได้รับแจ้ง แต่หากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถยังคงไม่ชำระค่าปรับ พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมหลักฐานไปยังนายทะเบียน หากเจ้าของรถไปยื่นขอชำระภาษี จะได้รับหลักฐานชั่วคราวเป็นป้ายชั่วคราวที่มีอายุ 30 วันแทน จากนั้นนายทะเบียนจะแจ้งให้เจ้าของรถไปชำระค่าปรับภายใน 30 วันตั้งแต่ที่ได้รับแจ้ง รู้อย่างนี้แล้วคราวนี้หากเรายังเมินเฉยแล้วหล่ะก็ต่อทะเบียนไม่ได้กันเชียวนะ
ปัจจุบันการนำ ใบสั่ง ที่ส่งเป็นจดหมายมานั้น ไม่ใช้เรื่องยากและวุ่นวายอีกต่อไป มีแหล่งที่รับชำระคอยให้บริการหลากหลายช่องทาง มาดูกัน
– จ่ายได้ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ
– จ่ายที่ธนาคารกรุงไทยได้ 3 ช่องทาง
– เคาน์เตอร์ทุกสาขา ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น (มีมากกว่า 1,200 สาขา)
– ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย (กว่า 9,000 ตู้ทั่วประเทศไทย สามารถทำตามขั้นตอนตามหน้าตู้ได้เลยไม่ยาก)
– KTB NETBANK ทาง Smartphone
– สถานีตำรวจท้องที่ที่ออกใบสั่ง ในวันและเวลาราชการ (ต่างจังหวัดคงไม่ไหวจะขับกลับไป)
– เคาน์เตอร์เซอร์วิส ทั่วไปทุกสาขา
– ตู้เติมเงินมือถือ “บุญเติม” โดยกดเมนูจ่ายบิลล์ค่าสินค้า และชำระค่าปรับ แต่ใบสั่งต้องมีแถบบาร์โคด
– จุดรับชำระที่มีสัญลักษณ์ ชำระค่าปรับจราจร PTM (Police Ticket Management)