โตโยต้าเปิดโครงการ “โตโยต้า 60 ปี 60 ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ร่วมสร้างสังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แนะนำชุมชนแสมผู้ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรก
โตโยต้าเปิดโครงการ “โตโยต้า 60 ปี 60 ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน”
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย นายสุรภุมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปากน้ำประแส และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมเปิดโครงการ โตโยต้า 60 ปี 60 ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พร้อมแนะนำชุมชนแสมผู้ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง เป็นชุมชนต้นแบบแห่งแรก ในการส่งมอบองค์ความรู้แก่ชุมชนอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอนทั่วประเทศ ณ อนุสรณ์เรือรบประแส ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
ในโอกาสครบรอบ 60 ปี การดำเนินงานในประเทศไทย โตโยต้า ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่กับการเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม” โดยหนึ่งในพันธกิจ ที่สำคัญคือการ เสริมสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว โตโยต้าได้มีความพยายามเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง (Multi-Pathway) พร้อมกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดการกระบวนการตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ ในการส่งต่อความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทย ภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว” โดยหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมนอกโรงงานแห่งแรก ภายใต้ชื่อ โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อนำแนวคิดการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า ไปประยุกต์ใช้และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของชุมชนเมือง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายผลจากการดำเนินกิจกรรมข้างต้น และเนื่องในโอกาสฉลองการดำเนินงานในประเทศไทยครบ 60 ปี โตโยต้าจึงได้ริเริ่มโครงการ “โตโยต้า 60 ปี 60 ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อส่งต่อความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป ผ่านการดำเนินงาน ใน 4 แนวทาง ได้แก่
- ชุมชนอากาศดี (Clean air)
- เขียวขจีต้นไม้ (Green village)
- ไร้ขยะกลาดเกลื่อน (Zero waste)
- ขับเคลื่อนพลังงานทดแทน (Clean energy)
ชุมชนเมืองตัวอย่างแห่งแรกของโครงการ ได้แก่ ชุมชนแสมผู้ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ที่มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ กิจกรรมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสัมผัสบรรยากาศริมทะเล และวิถีชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี อันมีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการต่อยอดให้เป็นชุมชนต้นแบบ
ดังนั้น โตโยต้าจึงได้ร่วมมือกับเทศบาลตำบลปากน้ำประแส และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการส่งมอบสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนร่วมพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ ดังนี้
- ส่งมอบจักรยานไฟฟ้า 10 คัน เพื่อส่งเสริมการเดินทางอย่างยั่งยืน
- สนับสนุนสถานีชาร์จพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 จุด ตั้งอยู่ที่อนุสรณ์เรือรบประแส และ
หน้าทางเข้าทุ่งโปรงทอง เพื่อเป็นจุดจ่ายไฟแก่รถจักรยานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 100% ตลอดจนเป็นจุดประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในพื้นที่ - ส่งมอบต้นกล้าชายเลน 6,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทดแทนต้นไม้ที่เสียหายไปจากภัยพิบัติ
- จุดคัดแยกขยะรีไซเคิล 4 จุด โดยจัดตั้งตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะ
รีไซเคิลภายในพื้นที่ และปลูกฝังการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ชุมชนแสมผู้ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส มีจุดท่องเที่ยวสำคัญคืออนุสรณ์เรือรบประแส ที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นจำนวน 32.8* ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ทั้งนี้ จากการสนับสนุนโดยกิจกรรมของโตโยต้าข้างต้น สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 33.1* ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่อย่างอนุสรณ์เรือรบประแสเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน
โตโยต้ามีแผนในการขยายโครงการ โตโยต้า 60 ปี 60 ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ในระยะยาว โดยมีเป้าหมายในการขยายต่อยอดชุมชนต้นแบบอีก 3 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ภายในปี พ.ศ. 2566 และจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลสู่ 60 ชุมชนทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2050 ให้ลุล่วงต่อไป