โตโยต้า จับมือพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชน จัดสัมมนา “Hydrogen Symposium 2023” ขับเคลื่อนไฮโดรเจนพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย
โตโยต้า จับมือพันธมิตรภาครัฐ และภาคเอกชน จัดสัมมนา “Hydrogen Symposium 2023”
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และประธาน Hydrogen Thailand Club นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด นายยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายโชทาโร่ ซาโนะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานสัมมนา “Hydrogen Symposium 2023” ภายใต้แนวคิด Gearing towards Carbon Neutrality with Hydrogen Society เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีไฮโดรเจน ผ่านการเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของโครงการจากองค์กรต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ณ ห้องบอลรูม โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
งานสัมมนา “Hydrogen Symposium 2023” จัดขึ้นโดย Hydrogen Thailand Club ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ และภาคเอกชน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อผลักดันการเตรียมความพร้อมในการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 20 องค์กร ซึ่งให้ความสนใจนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนมาร่วมขับเคลื่อนให้เป็นพลังงานทางเลือกใหม่แห่งอนาคต ภายในงานมีการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้งใน และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจน และมีเครือข่ายอุตสาหกรรมในประเทศไทยจำนวนมาก จึงสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีไฮโดรเจนในประเทศไทย โดยครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- “Usage of Ammonia / Hydrogen in Power Generation” โดย บริษัท JERA Asia
- “Hydrogen Market Overview in Thailand” โดย บริษัท Deloitte Tohmatsu Consulting
- “Japan’s Action to Promote Hydrogen Energy” โดย องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น
- “Green Hydrogen Project in Thailand” โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)
- “Japan Hydrogen Association Activities for the Realization of Hydrogen Society” โดย Japan Hydrogen Association (JH2A)
- “Introduction of Transportation Technologies” โดย บริษัท Chiyoda Corporation
- “Japan Hydrogen Strategy and Mitsui Hydrogen Business” โดย บริษัท Mitsui & Co., Ltd.
- “Southeast Asia’s Readiness for Hydrogen and its Implications to Thailand” โดย บริษัท Arthur D. Little (ADL)
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงแหล่งที่มาของไฮโดรเจนที่หลากหลาย ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และ น้ำมันปิโตรเลียม หรือจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล พลังงานน้ำ และ พลังงานลม เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะเฉพาะของไฮโดรเจน ส่งผลให้การกักเก็บ และการขนส่งเป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบา มีค่าพลังงานต่อปริมาตรต่ำ การกักเก็บจึงจำเป็นต้องใช้ความดันสูง และอุณหภูมิต่ำ และได้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีการกักเก็บ และขนส่งไฮโดรเจนในรูปของแอมโมเนีย ซึ่งสามารถทำได้ง่ายกว่า และยังมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งระยะไกลทางเรือได้อยู่แล้ว
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ กล่าวในการสัมมนาว่า “หนึ่งในพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทโตโยต้าทั่วโลก คือการสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ซึ่งสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เนื่องจากเป้าหมายหลักคือการกำจัดศัตรูของเรา คือคาร์บอน เราจำเป็นต้องเตรียมแนวทางในการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวที่หลากหลาย และนำเสนอทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคำนึงถึงบริบท และความต้องการของผู้ใช้ แหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนสภาพตลาดที่แตกต่างกัน เทคโนโลยีไฮโดรเจนก็เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สำคัญ ในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งมีปริมาณมากมาย เช่น ในน้ำ (H2O) ทั้งนี้ การที่จะผลักดันการใช้งานไฮโดรเจนในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน โดยงานในวันนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาครัฐ และ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังงานทางเลือกแห่งอนาคต”
การสัมมนาได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และในโอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมงานยังได้ไปเยี่ยมชม สถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภายใต้ “โครงการการจัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ (Decarbonized Sustainable City) ภายใต้ความร่วมมือจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีในการวางรากฐานระบบการเดินทางยุคใหม่ในประเทศไทยต่อไป