รถยนต์ไฟฟ้า ในไทย จะมาเมื่อไหร่กันแน่?

TAJA Knowledge Base 2017

TAJA Knowledge Base 2017 ครั้งที่ 1 อบรมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ รถยนต์ไฟฟ้า สำหรับสื่อมวลชน โดยความร่วมกับ BMW , สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ (สรยท.) เสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อออกแบบ และเทคโนโลยี (ศูนย์ KX) ชั้น 10 ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

รถยนต์ไฟฟ้า

ถ้าพูดถึง รถยนต์ไฟฟ้า เราคงนึกถึงรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนแบบเพียวๆ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าเราคนไทยได้ขับรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้ากันบนถนนมานับ 10 ปีแล้ว นั่นก็คือรถยนต์ประเภทไฮบริด ถ้าอย่างนั้นเราไปทำความรู้จักกันก่อนว่ารถยนต์ หรือยานยนต์ไฟฟ้านั้นมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

รถยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

คือยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรืออาศัยเครื่องยนต์มาใช้ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการขับเคลื่อน และผลิตพลังงานไฟฟ้าเก็บสะสมในแบตเตอรี่ หรือการอัดประจุไฟฟ้าจากภายนอก หรือการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบีเอ็มดับเบิ้ลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ร่วมกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย จัดขึ้น ณ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการออกแบบ และเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

โดยรถยนต์ไฟฟ้านับเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก มาพร้อมกระแสการลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ในหลายประเทศมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย ค่ายรถยนต์หลายค่ายผลิตรถยนต์ประเภทนี้ออกขายกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในไทยดูจะเป็นจริงเป็นจังเมื่อไม่นานมานี้เอง เพราะรัฐบาลเพิ่งจะบรรจุมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558 – 2579

ซึ่งตั้งเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดปลั๊กอิน และรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ ให้ได้รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน ในปี พ.ศ.2579

 

แผนขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ปี 2559 – 2579

ระยะที่ 1 (2559 – 2560)
เน้นนำร่องการใช้งานในกลุ่มรถยนต์โดยสารสาธารณะ ยกตัวอย่างคร่าวๆ ตอนนี้ของ ขสมก.มี EV Bus 20 คันวิ่งทดสอบสมรรถนะอยู่ และนำร่องไปแล้ว 200 คัน โดยมีสถานีชาร์จไฟอยู่ 4 แห่งร่วมกับ กฟน. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น ปตท.ก็ใช้ EV Bus รับส่งพนักงาน(สนญ. – bts หมอชิต) หรือของ กฟภ.ก็มี EV Bus ใช้งานในเส้นทางสุวรรณภูมิ – พัทยา

ระยะที่ 2 (2561 – 2563)
ช่วงนี้วิจัยเข้มข้น ขยายผลการดำเนินงานของรถโดยสารสาธารณะ และเตรียมความพร้อมไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยจะมีการกำหนดรูปแบบมาตรฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า, ศึกษา และกำหนดมาตรการเพื่อจูงใจเอกชนลงทุนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงทบทวนโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

ระยะที่ 3 (2564 เป็นต้นไป)
ขยายผลสู่การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับปริมาณที่จะเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยลดต้นทุน

 

มันจะเกิดขึ้นจริงมั้ยในเมืองไทย?

ไม่ว่าใครก็ต้องถามคำถามนี้ พอสรุปคร่าวๆ ที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่เราต้องนำไปขบคิด และทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เพราะภาครัฐได้ใส่มาตรการไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงานอย่างชัดเจนแล้ว

ปัจจัยหลักของราคารถยนต์ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับราคาของแบตเตอรี่ แต่แนวโน้มของราคาแบตเตอรี่จะถูกลง 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี ซึ่งค่าย FOMM ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าน้องใหม่จากญี่ปุ่นบอกว่า การชาร์จไฟครั้งนึงราว 6 ชม.จะมีค่าไฟประมาณ 36 บาท และวิ่งได้ราว 150 กม.

 

จากงานสัมมนา สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนพอจะจับใจความได้ว่าอนาคตจะเกิดหรือจะดับนั้น ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลต้องสามารถสู้ได้กับราคารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ไม่ว่าจะลดภาษี หรือชิ้นส่วนประกอบจาก supplier ก็ตาม เมื่อประกอบเป็นคันแล้วราคาต้องไม่โดดจนเกินไปนัก อีกประการตอนนี้ที่ supplier เรียกร้องก็คือ เมื่อรัฐบาลสนับสนุนแล้ว แต่สถาบันการเงินกลับไม่เล่นด้วยนี่สิ…คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะหมู่หรือจ่ากันแน่


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |