โยโกฮามารุกตลาดยาง มั่นใจได้เปรียบเรื่องคุณภาพ
นายยาซูชิ อิอิดะกรรมการผู้จัดการ บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท โยโกฮามา รับเบอร์ จำกัด เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์โยโกฮามา คุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 91 ปี นับจากการก่อตั้งบริษัทโยโกฮามาที่ประเทศญี่ปุ่น และกว่า 30 ปีในประเทศไทย โดยในปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 7 ของโลก และมีฐานการผลิตอยู่ใน 11 แห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เริ่มการก่อตั้ง บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (YTST) ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากโยโกฮามา เอเชีย เพื่อดูแลงานด้านการตลาดทั้งหมดในประเทศไทย เนื่องจากตลาดอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศไทยค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่จะมีการแข่งขันในเรื่องของราคา แต่ในไทยจะมีความหลากหลายของแบรนด์ที่อยู่ในตลาด ทั้งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันในเรื่องของราคาแล้ว ยังมีการแข่งขันในด้านคุณภาพของสินค้าค่อนข้างสูงอีกด้วย ทั้งนี้สภาพตลาดยางรถยนต์เมืองไทยในปัจจุบันยังมีความมั่นคงเพราะสภาพตลาดยางรถยนต์ จะขึ้นโดยตรงกับจำนวนรถที่แล่นบนท้องถนน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณรถที่ขาย ถึงแม้ในสภาวะทางเศรษฐกิจถดถอยเช่นในปัจจุบัน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากมายนัก
สำหรับการเข้ามาทำการตลาดของ YTST ถือเป็นข้อได้เปรียบของยางโยโกฮามา นอกจากเรื่องของการมีฐานการผลิตในประเทศไทยแล้ว ยางโยโกฮามายังได้เปรียบในเรื่องของการที่เราวางตัวเป็นสินค้าคุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยม โดยที่ผ่านมา เจ้าของรถยนต์ส่วนใหญ่ที่เลือกใช้ยางมักจะเป็นเจ้าของรถหรูระดับพรีเมี่ยม ส่วนการวางกลยุทธ์ทางการตลาดของ YTST เริ่มจากการนำสินค้าเข้าไปสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกค้าด้วยการทำงานร่วมกับผู้แทนจำหน่ายอย่างใกล้ชิด และสร้างความรู้จักอย่างต่อเนื่องสู่ผู้บริโภค พร้อมหาช่องทางที่จะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังทุกๆ กลุ่มผู้บริโภคอย่างทั่วถึง รวมทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบการแข่งรถ เพื่อยกระดับแบรนด์ของเราสู่ความเป็นผู้นำในตลาดยางรถยนต์เมืองไทย
ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ คือ “แอดแวน นีโอวา” (Advan Neova) ซึ่งถือเป็นยางสปอร์ตที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มยางที่ใช้วิ่งบนถนน โดยมีร่องหน้ายางเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป แต่มีสมรรถนะของการยึดเกาะถนนที่ใกล้เคียงกับยางที่ใช้สำหรับรถแข่ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างยอดขายให้กับโยโกฮามาในปี 2552